svasdssvasds

รัฐคุมเข้ม “ผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำ” ลดผลกระทบต่อปะการัง

รัฐคุมเข้ม “ผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำ” ลดผลกระทบต่อปะการัง

ทส. ออกมาตรการเข้ม แก่ “ผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำ” ลดผลกระทบต่อปะการัง ฝ่าฝืนคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

SHORT CUT

  • กิจกรรมดำน้ำนับว่าเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีผลกระทบต่อปะการัง และความอุดมสมบูรณ์ในท้องทะเล

  • ล่าสุดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)  จัดทำประกาศ “มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ” ขึ้น เพื่อบังคับใช้กับ “ผู้ประกอบการที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ”

  • โดยมีสาระสำคัญคือ ต้องจัดให้มี “ผู้ควบคุมหรือผู้ช่วยควบคุม” ที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กรม ทช. กำหนด เดินทางไปกับนักท่องเที่ยวทุกครั้ง

ทส. ออกมาตรการเข้ม แก่ “ผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำ” ลดผลกระทบต่อปะการัง ฝ่าฝืนคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

กิจกรรมดำน้ำนับว่าเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีผลกระทบต่อปะการัง และความอุดมสมบูรณ์ในท้องทะเล โดย ดร. ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กล่าวถึงช่วงหลายปีที่ผ่านมา กิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่แนวปะการังที่มีความสวยงาม ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายละเลยการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยว ปล่อยให้ดำน้ำโดยไม่มีการอบรมหรือแนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ขาดเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญดูแล ทำให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัส เหยียบย่ำ หรือใช้ตีนกบโดยไม่รู้วิธี มีการให้อาหารปลา และทิ้งขยะในทะเล รวมถึงผู้ประกอบการที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ เคลื่อนย้ายปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใด ๆ มาให้นักท่องเที่ยวดู ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังมาอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุข้างต้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)  จัดทำประกาศ “มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ” ขึ้น เพื่อบังคับใช้กับ “ผู้ประกอบการที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ” โดยมีสาระสำคัญคือ ต้องจัดให้มี “ผู้ควบคุมหรือผู้ช่วยควบคุม” ที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กรม ทช. กำหนด เดินทางไปกับนักท่องเที่ยวทุกครั้ง

รัฐคุมเข้ม “ผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำ” ลดผลกระทบต่อปะการัง

ซึ่งผู้ควบคุมต้องชี้แจงกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิธีการดำน้ำที่ไม่กระทบต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลให้กับนักท่องเที่ยวทราบก่อนการดำน้ำ โดยมีอัตราส่วนผู้ควบคุม ต่อ นักท่องเที่ยว แบ่งตามประเภทการดำน้ำ ได้แก่ การดำน้ำลึก (Scuba) ผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักดำน้ำไม่เกิน 4 คน การดำน้ำตื้น (Snorkel) และดำน้ำอิสระ (Freediving) ผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักดำน้ำไม่เกิน 20 คน การทดลองเรียนดำน้ำ (DSD or Try Dive) ผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักเรียนไม่เกิน 2 คน และการเรียนและการสอบดำน้ำลึก ผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักเรียนไม่เกิน 4 คน และห้ามเรียนบนแนวปะการัง ต้องเรียนบนพื้นทราย 

“การออกมาตรการดังกล่าว จะช่วยสร้างมาตรฐานการดำน้ำในบริเวณแนวปะการัง ทั้งการดำน้ำตื้นและดำน้ำลึก ให้กับนักดำน้ำมือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ พร้อมกำกับดูแล และควบคุมการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำบริเวณแนวปะการังให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีข้อปฏิบัติ ดังนี้ 1. ในการดำน้ำลึก (Scuba) ห้ามนำกล้องลงไปถ่ายภาพใต้น้ำ ยกเว้นมีผู้ที่ผ่านหลักสูตรดำน้ำลึกระดับเทียบเท่า Advanced หรือมีประสบการณ์ดำน้ำ 40 ไดฟ์ขึ้นไป ทำหน้าที่ถ่ายภาพให้”

อย่างไรก็ตามหากมีการเรียนหรือสอบดำน้ำลึก ห้ามครูและนักเรียน ถ่ายภาพใต้น้ำ (ยกเว้นการเรียนตามหลักสูตรถ่ายภาพใต้น้ำ) ถ้าต้องการถ่ายภาพในการเรียนจะต้องมีบุคคลทำหน้าที่ถ่ายภาพโดยเฉพาะ เพราะหากไม่เชี่ยวชาญในการดำน้ำจะทำให้ปะการังเกิดความเสียหาย 2. ในการดำน้ำตื้น (Snorkel) หากดำน้ำตื้นในบริเวณแนวปะการังระดับน้ำจะต้องสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร จากยอดปะการัง หากมีการใช้ตีนกบ ผู้ควบคุมต้องแจ้งวิธีการใช้ตีนกบไม่ให้กระทบต่อปะการัง และต้องใส่ชูชีพทุกครั้ง เว้นแต่ผ่านหลักสูตรการดำน้ำลึกหรือหลักสูตรการดำน้ำอิสระมาแล้ว

ทั้งนี้ กรม ทช. ได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) ระเบียบ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วย ผู้ควบคุมและผู้ช่วยผู้ควบคุมการท่องเที่ยวดำน้ำในบริเวณแนวปะการัง โดยมีมัคคุเทศก์ ผู้นำการดำน้ำ และครูสอนดำน้ำ หรือระดับเทียบเท่าขึ้นไป ผ่านการฝึกอบรมแล้ว จำนวน 1,946 คน ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการออกบัตรให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรม 

รัฐคุมเข้ม “ผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำ” ลดผลกระทบต่อปะการัง

โดยหากผู้ประกอบการที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว จะมีโทษตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อประโยชน์ในการสงวน คุ้มครอง อนุรักษ์ หรือฟื้นฟูทรัพยากรปะการัง ให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต สามารถอ่านประกาศฉบับเต็มได้ที่ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/67994.pdf

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related