Oslo เมืองที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เอาจริงเอาจังกับการปฏิวัติ "ไซต์ก่อสร้าง" ใจกลางเมือง กำหนดมาตรฐานวัสดุ เปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรไฟฟ้า หลายปีผ่านไป ไม่เคยถูกร้องเรียนเรื่อง "เสียงรบกวน - ฝุ่นอีกเลย"
วันหนึ่งวันใดที่ระแวกบ้านคุณนั้นมีไซต์ก่อสร้างมาลงล่ะก็ ให้ทำใจไว้เลยว่าช่วงนี้โสตประสาทการได้ยินของคุณจะถูกกระตุกอยู่บ่อย ๆ ฟังเสียงเครื่องจักรนาน ๆ เข้าก็เกิดอาการรำคาญ หงุดหงิด หรือแม้แต่เสี่ยงสูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไป
หลาย ๆ เมืองที่เอาจริงเอาจังกับการเปลี่ยนเมืองให้เป็นสีเขียว “ไซต์ก่อสร้าง” คือหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะรู้หรือไม่ว่า เขตพื้นที่ก่อสร้างนั้นเป็นหนึ่งในต้นตอฝุ่น PM 2.5 และเสียงที่ได้ยินอยู่ซ้ำ ๆ ก็ส่งผลต่อสมอง และอารมณ์ (หงุดหงิดขึ้น)
เรื่องนี้ เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ ไม่ปล่อยให้เป็นตะคริว ณ นิ่วใจ ภายในเวลาไม่กี่ปี ออสโลได้เนรมิตไซต์ก่อสร้างรักษ์โลกในเมืองแทบจะทุกโครงการ นับแต่นั้นมา ก็แทบไม่ได้รับการร้องเรียนอีกเลย พวกเขาทำอย่างไร หยิบขนม น้ำให้พร้อม และเปิดสมองโล่ง ๆ แล้วเรียนรู้ไปพร้อมกัน
เมืองออสโลมีแนวคิดที่เรียกว่า “Oslo Model” อธิบายคอนเซปต์แบบเข้าใจง่าย ๆ คือ การจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้าง (และอื่น ๆ ) ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ในกรณีนี้คือการส่งเสริมให้ซื้อเครื่องจักรไฟฟ้า วัสดุรักษ์โลก งบประมานโปร่งใส จุกจิกไปถึงเรื่องการติดตามมลพิษจากการขนส่ง
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ ด้วยโปรเจกต์ “Sophie’s Minde” อาคารอิฐเก่าแก่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 1898 มีเนื้อที่ประมาณ 13,000 ตารางเมตร เดิมเคยเป็นศูนย์กระดูกและข้อ แต่ทรุดโทรมไปตามกาล ผู้คนในยุคนี้จึงลงความเห็นให้ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ อาทิ โรงเรียนอนุบาล ห้องประชุม และคลินิกชุมชน
ว่ากันในแง่กระบวนการก่อสร้าง ทางเมืองออสโลเนรมิตอาคารแห่งนี้ด้วยการนำวัสดุ (ชั้นดี) กลับมาใช้ใหม่ ทั้งยังก่อสร้างด้วยเครื่องจักรไฟฟ้า 100% อาทิ รถขุด บ่อยางมะตอย เครื่องเจาะ ฯลฯ
ดูจากวิธีการแล้วก็น่าจะรักษ์โลก แต่ผลลัพธ์เป็นอย่างไร เวิร์กจริงไหม ไปดูกัน
เว็บไซต์ C4 Cities ระบุว่า โปรเจกต์รีโนเวทตึก Sophie’s Minde ปล่อยคาร์บอนตลอดการก่อสร้างเพียง 16 ตัน นับว่าน้อยลงมากหากเทียบกับการใช้เครื่องจักรแบบเดิม ซึ่งคาดว่าจะปล่อยคาร์บอนราว 223 ตัน
อีกหนึ่งเรื่องที่ขจัดไปได้ก็คือ “เสียงรบกวน” นี่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกร้องเรียนเป็นอันดับต้น ๆ แม้จะมีกฎห้ามว่าไซต์ก่อสร้างมิควรทำการช่วง 22.00-06.00 น. (ไทย) แต่ก็นะ... การนำเครื่องจักรไฟฟ้ามาใช้นั้นแก้ปัญหาเรื่องเสียงได้
การเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรไฟฟ้า สามารถเขียนได้ง่าย ๆ เพียงไม่กี่วินาที ทว่าต้นทุนของมันมหาศาลพอสมควร ดังนั้น เมืองออสโลกำลังพยายามให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ธุรกิจก่อสร้างรายเล็ก ถึงกลางให้สามารถเข้าถึงเครื่องจักรไฟฟ้าได้
เมื่อมีการนำโมเดลนี้มาใช้ เมืองออสโลสามารถแก้ตะคริว ณ นิ่วใจไปด้วยหลายจุด ยกตัวอย่างเช่น ลดมลพิษทางเสียง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือแม้แต่แก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบระหว่างนายจ้าง-แรงงาน การทำงานนอกระบบ หรือไซต์ผี
จนถึงวันนี้ เวลาผ่านไปร่วม 5 ปี สิ่งซึ่งเมืองออสโลได้แผ้วทางเอาไว้เริ่มผลิดอกออกผล โดยข้อมูลจาก Silje Bakke ที่ปรึกษากฎหมายของหน่วยงานปรับปรุง และพัฒนาเมือง พบว่า พื้นที่ก่อสร้างของเมืองออสโล กว่า 77% นั้นปลอดมลพิษตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป เมืองออสโลเตรียมกำหนดเงื่อนไขสำหรับโครงการก่อสร้างใหม่ โครงการก่อสร้างสาธารณะทุกประเภท ต้องปลอดมลพิษในทุกอนู ตั้งแต่วัสดุ มลพิษระหว่างก่อสร้าง เสียงรบกวน ฯลฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง