ในโมงยามที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกฟากฝั่งของโลก ที่ขั้วโลกเหนือกำลังสูญเสียน้ำแข็งจำนวนมาก และนี่คือภาพถ่ายเปรียบเทียบ ซึ่งระยะเวลาห่างกันเกือบ 100 ปี แต่ดูซิว่า อะไรไม่เหมือนเดิม?
เห็นได้ชัดเลยว่าอุณหภูมิโลกที่อบอุ่นขึ้น อันเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายเยอะเสียจนน่าใจหาย
เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 2566 หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโคเปอร์นิคัสสหภาพยุโรป (Copernicus Climate Change Service: C3S) ได้ประกาศว่า วันที่ 17 พ.ย. 2566 เป็นวันแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเกิน 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม (ช่วงปี 1850-1900) โดยอุณหภูมิโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 2.07°C
แล้วยังไง?
SPRiNG ได้เปรียบเทียบ 3 ภาพ ให้เห็นกันชัด ๆ ทั้งสามภาพนี้ ถูกลั่นชัตเตอร์ที่สฟาลบาร์ เขตขั้วโลกเหนือในประเทศนอร์เวย์ (ดินแดนที่มีหมีขั้วโลกเยอะ ๆ นั่นแหละ) ด้วยเงื่อนไขเดียวกันคือ ถ่ายที่มุม-สถานที่เดิม และไม่มีการปรับแต่งภาพใด ๆ ทั้งสิ้น แตกต่างกันแค่ระยะเวลาเท่านั้น
ภาพแรกถูกถ่ายขึ้นในปี 1928 จะเห็นว่าธารน้ำแข็งระหว่างภูเขาสองลูกยังเฟื่องไปด้วยน้ำแข็ง บนเงื่อนไขว่า โลก ณ เวลานั้น ยังไม่มีใครล่วงรู้ถึงพิษภัยของปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ผนวกกับโลกเพิ่งได้รับอิทธิพลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษได้ไม่นาน
จนกระทั่งในปี 2002 Greenpeace ได้มอบหมายให้ช่างภาพชื่อว่า คริสเตียน ออสลุนด์ เดินทางไปที่สฟาลบาร์ และไปยังภูเขาลูกเดิมเพื่อถ่ายรูปเปรียบเทียบกับรูปแรก ยิงมิทันจะลั่นชัตเตอร์ ช่างภาพผู้นี้ถึงกับตกตะลึงกับหายนะตรงหน้า เวลาผ่านไปราวเจ็ดทศวรรษ ภาวะโลกร้อนหลอมละลายน้ำแข็ง ณ ที่แห่งนี้ หายไปเยอะจนน่าเป็นห่วง
“ในปี 2002 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นที่รู้จักมากเท่าปัจจุบัน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากเมื่อได้เห็นภาพนั้น”
22 ปีถัดมา คริสเตียน ออสลุนด์ ได้แบกกล้องเดินทางไปยังสถานที่แห่งนี้อีกครั้ง และกดลั่นชัตเตอร์ “แชะ” เพียงแต่ว่าในปี 2024 น้ำแข็งก็ละลายหายไปอีก
ในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ ธารน้ำแข็งในสฟาลบาร์ดละลายเร็วที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลมา รายงานจากมหาวิทยาลัยลีแยฌ (University of Liège) สูญเสียน้ำแข็งเทียบเท่าน้ำปริมาณ 55 มม. ซึ่งถือกว่ามากกว่าระดับปกติถึง 5 เท่า
หากน้ำแข็งที่สฟาลบาร์ดละลายหมด จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น 1.7 ซม. แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ อุณหภูมิ รายงานเดิมระบุไว้ว่า พื้นที่บริเวณสฟาลบาร์ดมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นราว 4 องศา ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
“ผมยังมีหวังนะ ว่าเราจะสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาได้ พวกเราทุกคนในฐานะปัจเจกสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อป้องกันปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ” คริสเตียน ออสลุนด์ กล่าว
ในช่วงที่ คริสเตียน ออสลุนด์ เผยแพร่ภาพน้ำแข็งที่สฟาลบาร์ เมื่อปี 2002 เขาถูกโจมตีว่าปรับภาพให้ดูเกินจริง หรือถ่ายผิดฤดูกาล ซึ่งคริสเตียนยืนยันว่าไม่เป็นความจริง
“ถ้าเป็นฤดูหนาว สฟาลบาร์ดจะมืดสนิท รูปที่ออกมาจะไม่เป็นแบบนี้”
และสิ่งสุดท้ายที่ตากล้องคนนี้ อยากจะสื่อสารให้ทุกคนได้รับรู้คือ
ที่มา: The Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง