SHORT CUT
"ข้าวคาร์บอนต่ำ" สินค้าเกษตรกู้โลกเดือด ไทยเตรียมหนุน ชิงบัลลังก์ในตลาดโลก ตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงคู่แข่งที่หันไปหาข้าวพรีเมียมมากขึ้น
ประเทศไทย ถือเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก แต่ปัจจุบัน “อุตสาหกรรมข้าว” กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ท้าทายกลุ่มค้าข้าวทั่วโลก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ผนวกกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะจับจ่ายสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การปรับตัวครั้งใหม่จึงต้องเกิดขึ้นในวงการค้าข้าว
ข้อมูลจากกองประสานงานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เผยว่า ภาคการเกษตรของไทยมีการปล่อยกาซเรือนกระจกคิดเป็นอันดับ 2 (ร้อยละ 15.23) ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รองจากภาคพลังงาน ที่มีมากสุดถึงร้อยละ 69.96
นอกจากนี้ หากมองแค่เฉพาะในภาคของการเกษตร การปลูกข้าวถือว่าเป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 50.58 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรทั้งหมด
ดังนั้น เพื่อให้วงการข้าวสามารถปรับตัวเข้ากับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น หลายประเทศ รวมทั้งไทย จึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Green Consumer) อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าเพื่อเจาะตลาดข้าวพรีเมียม ในขณะที่ เวียดนามก็กำลังเร่งส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน
“ข้าวคาร์บอนต่ำ” คือข้าวที่ผลิตและแปรรูปด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยกาซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการทำนาเปียกสลับแห้ง การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร (เช่น การรณรงค์ไม่เผาตอซังข้าว)
นอกจากนี้ การผลิตข้าวคาร์บอนต่ำยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับกฎระเบียบ เงื่อนไขและมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศที่อาจเข้มข้นมากขึ้น สอดรับกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมเข้มงวด เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรับอเมริกา เป็นต้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนายการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า สนค. ตระหนักถึงความสำคัญในการปรับตัวของผู้ผลิตและผู้ประกอบการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมทั้งกฎระเบียบและมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันการผลิตและการค้าภาคเกษตรของไทยกำลังเผชิญความท้าทายภายใต้สถานการณ์วิกฤตสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคจึงมีความต้องการสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ซึ่งสำหรับ “ข้าว” ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย และไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก จึงควรเร่งปรับตัวและพัฒนาการผลิตเพื่อคว้าโอกาสและช่วงชิงตำแหน่งผู้นำในตลาดข้าวคาร์บอนต่ำหรือข้าวลดโลกร้อน ที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมสินค้ารักษ์โลก และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลอดสินค้ารักษ์โลกได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไทยมีการส่งเสริมการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการต่าง ๆ มานานแล้ว อาทิ โครงการไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) หรือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2561 – กรกฎาคม 2567 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับองค์กรด้านความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ที่ส่งเสริมในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงิน
สำหรับประเทศเวียดนาม ซึ่งถือว่าเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกเช่นเดียวกับไทย เวียดนามได้มีนโยบายรุกตลาดข้าวคาร์บอนต่ำ และพัฒนาการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำอย่างรวดเร็ว โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่มุ่งเน้นเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรอย่างจริงจัง
ซึ่งเวียดนามได้ใช้เทคนิกการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำคล้ายกับไทย โดยเน้นในเรื่องของการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก โดยในปัจจุบัน เวียดนามได้ผลักดันนโยบาย Net Zero Emission ส่งเสริมการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Rice) เพื่อตอบโจทย์ประเทศคู่ค้ากลุ่มตลาดพรีเมียมที่มีความต้องการสินค้ารักษ์โลกเพิ่มขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ เวียดนามยังมีข้อได้เปรียบไทยตรงที่ว่า มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า และเข้าถึงตลาดข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า เพราะมีข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด จึงอาจทำให้สามารถเจาะตลาดยุโรปได้ดีกว่าไทย
เมื่อพิจารณาสถิติการส่งออกข้าวระหว่างไทยกับเวียดนาม พบว่า มีปริมาณและมูลค่าใกล้เคียงกันมาก โดยในปี 2566 ไทยส่งออกข้าว 8.77 ล้านตัน มูลค่า 5,147.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนามส่งออกข้าว 8.13 ล้านตัน มูลค่า 4,675.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่วนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – กันยายน) ไทยส่งออกข้าว 7.45 ล้านตัน มูลค่า 4,833.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนามส่งออกข้าว 6.96 ล้านตัน มูลค่า 4,353.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “การแข่งขันของตลาดข้าวโลกในปัจจุบัน เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ไทยจึงควรมุ่งพัฒนาการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ด้วยการัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อยกระดับ ข้าวคาร์บอนต่ำ ให้สูงขึ้น และเพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก สร้างความแข็งแกร่งให้กับการค้าข้าวไทยยั่งยืนในระยะยาว”