SHORT CUT
การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนแรงไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ จึงทำให้หลายฝ่ายต้องเร่ง สนับสนุน "ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทย" ปรับตัวให้รักษ์โลก รับนักท่องเที่ยวสายกรีน จากยุโรป สแกนดิเนเวีย
ปัจจุบันอะไรที่รักษ์โลก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมักจะขายได้ และราคาดีเสียด้วย หากแบรนด์หรือผู้ประกอบการได้พิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นว่า สินค้าและบริการของเราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ จึงไม่แปลกที่เจ้าของธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเองให้รักษ์โลก รับลูกค้าสายกรีนที่มาแรงแซงทางโค้ง รวมถึงหลายหน่วยงานก็แนะนำให้ไทยปรับตัวรับเทรนด์ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ท่องเที่ยวรักษ์โลก ที่มาแรงต่อเนื่อง
โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษาแนวโน้มการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) พบว่า มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มการเติบโตของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ถือเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยงแบบยั่งยืนของไทย โดยวิสาหกิจชุมชนภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทย มีจุดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ยาวนาน มีคุณค่าต่อการสืบทอด
ทั้งนี้ไทยควรนำจุดเด่นต่าง ๆ มาเล่าเรื่อง (Story Telling) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าสนใจ ทำให้จุดหมายปลายทางเป็นที่รู้จัก อีกทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่และชุมชน และควรมีการปรับตัวต่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เช่น คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนระยะยาว โดยการนำโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Model) มาปรับใช้ในกิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองพฤติกรรม ค่านิยม และเทรนด์การท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
ซึ่งเป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับชุมชน รวมทั้งต้องจัดโปรแกรมท่องเที่ยวเอาใจนักท่องเที่ยว กลุ่ม Baby Boomer พร้อมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างรายได้ เกิดการจ้างงานในชุมชน และยกระดับเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจฐานราก
ในขณะที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นอีกหนึ่งงานที่กำลังเร่งเดินหน้าส่งเสริม และสร้างการรับรู้เรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง #สปริงนิวส์ มีโอกาสสัมภาษณ์ "นางน้ำฝน บุณยะวัฒน์" รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมาแรงจริง ไม่ใช่แค่เป็นเทรนด์เพียงอย่างเดียว แต่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้รับเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งการท่องเที่ยวยั่งยืนนั้นอาจไม่ได้มาในรูปแบบของจำนวนเงิน แต่สามารถวัดได้จากจำนวนผู้ประกอบการที่เข้ามาสู่วงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้น
สำหรับนักท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่มาแรงสุดในขณะนี้ คือ ยุโรป สแกนดิเนเวีย (Scandinavia) ที่มีแนวโน้มท่องเที่ยวไทยมากสุด และมักจะถามถึงโรงแรม ที่พักเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มรักษ์โลก พร้อมและยินดีที่จะจ่ายหากราคาสูงกว่าทั่วไป เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลก ในส่วนของผู้ประกอบการท่องเที่ยวปัจจุบันก็ถือว่าปรับไปไปมากพอสมควร และยังคงต้องทำงานกับพันธมิตรในการปรับตัวต่อไป เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสายกรีนที่จะเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตามมหากถามว่าแล้วนักท่องเที่ยวสายกรีนปีหนึ่งๆมาเที่ยวจำนวนเท่าไหร่ รองผู้ว่าการฯ บอกว่า ปัจจุบันบ้านเรายังไม่มีระบบจัดเก็บข้อมูลในเชิงสถิติที่แม่นยำ และชัดเจนว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนเท่าไหร่ ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้เห็นว่าควรมีการลงทุนในการเก็บข้อมูลตรงส่วนนี้ให้ได้ รวมถึงการร่วมมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย และพันธมิตรอื่นๆ ในการเก็บสถิตินักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ รวมถึงหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กในการปรับตัวสร้างแบรนด์ให้รักษ์โลก ในแง่เงินทุนสนับสนุนจากกองทุนต่างๆที่อาจมีการตั้งขึ้นมา หรือสนับสนุนในการให้ความรู้ และการประสานงานในการไปขอสินเชื่อสีเขียวในการนำมาปรับปรุงธุรกิจ
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรม จัดงานต่างๆ เพื่อกระตุ้นสร้างการรับรู้ ด้วยการดึงผู้ประกอบการเข้าร่วมงานเพื่อนำเสนอสินค้า และบริการ ให้ความรู้นักท่องเที่ยวในประเทศที่ยังไม่รู้และเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน อันจะเป็นการช่วยโลกไปพร้อมๆกัน อย่างล่าสุดมีการจัดงาน Amazing Green Fest 2024 เทศกาลท่องเที่ยวยั่งยืน เปิดประสบการณ์ใหม่ เปลี่ยนให้ทุกการเดินทางมีความหมาย เมื่อวันที่ 15 – 18 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ The Cloud และเครือข่ายพันธมิตรด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน พร้อมชวนคนออกเดินทางอย่างรับผิดชอบ ไปพบธรรมชาติสุดมหัศจรรย์ วัฒนธรรม วิถีชุมชน การกิน – อยู่ กับธรรมชาติอย่างสมดุล ทำตามได้จริง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่มีความหมาย พร้อมสนับสนุนธุรกิจรายย่อยที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโต สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย
โดย นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่ใช่แค่เทรนด์ หรือการท่องเที่ยวของคนเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จและเป็นภูมิคุ้มกันระยะยาวให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย สำหรับจัดเทศกาล “Amazing Green Fest 2024” ขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างจริงจัง โดย ททท. หวังว่าผู้เข้าร่วมงานทุกท่านจะได้สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มีความหมายและคุณค่า ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นก้าวสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต่อไปในอนาคต”
ด้าน นายช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการบริษัท คลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด กล่าวเสริมว่า “Amazing Green Fest 2024 เทศกาลที่ชวนทุกคนมาเที่ยวดี กินดี ช้อปของดี จากธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืนทั่วไทย เป็นงานที่ตั้งใจจัดขึ้นเพื่อสร้างคอมมูนิตี้สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเปิดเป็นพื้นที่ในการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ร่วมกัน โดยบอกเล่าเรื่องราวความหมายและคุณค่าของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่มีต่อผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจต่าง ๆ ภายในงาน บนพื้นที่การจัดงานกว่า 5,000 ตร.ม. ใจกลางเมือง พร้อมเปิดประสบการณ์ชิม ช้อปแบบใหม่จากบูทร้านค้าทั่วไทยที่ใส่ใจความยั่งยืนทั้ง 200 ร้านค้า และหวังว่างานนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในไทยให้คึกคัก
แน่นอนว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวแบบยั่งยืนบ้านเราดีขึ้นต่อเนื่อง จากการส่งเสริม และร่วมมือกันในหลายภาคส่วน เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เติบโตเร็ว และใช้จ่ายกับสินค้ารักษ์โลกเท่านั้น สอดคล้องกับผลศึกษาในโครงการศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มรับผิดชอบต่อ สังคมและสิ่งแวดล้อม
โดย TAT Academy พบว่า นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มจ่ายเพิ่มสำหรับสินค้าและบริการรักษ์โลก โดย 83% จะพิจารณาจ่ายเพิ่มในระดับมากและมากที่สุด โดยใช้จ่ายกับกิจกรรมท่องเที่ยวมากที่สุด รองลงมาคือ ที่พัก ตั๋วโดยสารเครื่องบิน สถานที่ท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวกมากที่สุดตามลำดับ อีกทั้งยังเต็มใจจ่ายเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ รักษ์โลกทุกประเภทจากสินค้าและบริการราคาปกติ 5-10% มากที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รู้หรือไม่? ลูกค้า 64% ชี้ความยั่งยืนสำคัญ! 12% ยินดีจ่ายซื้อสินค้ารักษ์โลก
ถอดบทเรียน! "ท่องเที่ยวไต้หวัน" ชูคุณค่า-บริการรักษ์โลก แล้วย้อนดูไทย
‘โลงศพเห็ดเพื่อสัตว์เลี้ยง’ ของคนรุ่นใหม่เชียงดาว ย่อยสลายง่าย รักษ์โลก