SHORT CUT
รู้หรือไม่ว่า...? ในแต่ละปี อุตสาหกรรมเนื้อมีเนื้อเหลือทิ้งกว่า 23% ของทั้งกระบวนการผลิต ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามหาศาล บิ๊กเนื้อในบราซิลเห็นช่องทางจึงเปลี่ยนเนื้อเหลือทิ้งเป็นน้ำมันเครื่องบินรักษ์โลก หรือ เชื้อเพลิงอวกาศยานแบบยั่งยืน (SAF)
บริษัท JBS สัญชาติบราซิล ซึ่งเป็นผู้แปรรูปเนื้อสัตว์รายใหญ่ของโลก เปิดโปรเจครักโลกใหม่ ด้วยการส่งเนื้อสัตว์เหลือทิ้งที่ได้จากโรงงานในต่างประเทศ ไปผลิตเชื้อเพลิงเครื่องบิน
บริษัทดังกล่าวเปิดเผยว่า ทางบริษัทมีเนื้อหมูและเนื้อวัวที่เหลือทิ้งจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่โรงงานในสหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย ปริมาณมากถึง 1.2 ล้านตัน และได้นำไปแปรรูปเป็น sustainable aviation fuel (SAF) หรือเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนที่ผลิตจากทรัพยากรทางชีวภาพ รวมถึงนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงสะอาดตัวอื่นๆด้วย
ส่วนในบราซิลเอง บริษัท Friboi ซึ่งเป็นบริษัทลูกก็เริ่มทำการศึกษาเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ที่จะนำเนื้อสัตว์เหลือทิ้งภายในประเทศไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง SAF ซึ่งถูกมองว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับธุรกิจการบินพาณิชย์
ด้านเจสัน เวลเลอร์ ผู้บริหารระดับสูงด้านความยั่งยืนของ JBS เปิดเผยว่า จากโครงการนำเนื้อสัตว์เหลือทิ้งมาใช้งานได้ใหม่ แสดงให้เห็นว่าทางบริษัทสนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าวกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการผลิตเชื้อเพลิงสะอาดสำหรับเรือ โดยได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า Biopower หรือน้ำมันไบโอดีเซลที่ได้จากพืช ซึ่ง Biopower ของทางบริษัทดังกล่าวทำมาจากพืชสามชนิดที่เป็นขยะเหลือทิ้งจากกระบวนการเลี้ยงปศุสัตว์
ทั้งนี้ JBS เป็นบริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ก็เคยมีข่าวอื้อฉาวเรื่องเนื้อสัตว์ไม่ได้มาตรฐาน และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่งประสบปัญหาทางการจีนระงับการนำเข้าเนื้อวัวแปรรูปของบริษัทที่ผลิตจากโรงงานในสหรัฐฯ เนื่องจากพบร่องรอยการใช้สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อวัว