SHORT CUT
เวที CAL Forum #3 ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานเดินหน้าร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้า สู่ทิศทางนโยบายการเงิน การคลัง การค้า หนุนเป้าหมาย Net Zero
ต้องยอมรับว่าทั่วโลกกำลังรับมือโลกร้อน และเกมการค้าที่ยุโรป และอเมริกา เริ่มกดดันประเทศผู้ส่งออก ว่าธุรกิจที่ประเทศเหล่านั้นนำเข้ามาจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด ตามเป้าหมายที่ประเทศเหล่านั้นกำหนดไว้ โดย 1 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) เป็นชาติแรกๆ ที่ออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ หรือที่เรียกว่า “มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM)
ซึ่งมีการเพิ่มข้อจำกัด หลักเกณฑ์เงื่อนไข ที่เกี่ยวพันกระทบต่อประเทศที่ทำมาค้าขายกับอียูโดยตรง ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงประเทศไทย ที่มีอียูเป็นตลาดส่งออกหลักไปอียู โดยมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ได้กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่
(1) เหล็กและเหล็กกล้า
(2) อะลูมิเนียม
(3) ซีเมนต์ (4) ปุ๋ย
(5) ไฟฟ้า
และ (6) ไฮโดรเจน
ทั้งหมดต้องแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาในอียู และปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้านั้น โดยมีผลไปแล้วตั้งแต่ 1 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา ทั้งนี้นช่วง 3 ปีแรก (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566-31 ธันวาคม 2568) กำหนดให้เป็นระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน แต่ผู้นำเข้าจะต้องแจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกไตรมาส (เช่น ในเดือนมกราคม 2567 จะต้องแจ้งข้อมูลของช่วงระหว่าง 1 ตุลาคม 2566-ธันวาคม 2566)
และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 จะเริ่มบังคับใช้จริง โดยจะต้องแจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกปี ซึ่งอียูจะเริ่มมาตรการบังคับที่กำหนดให้ ผู้นำเข้าต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้นอย่างจริงจัง ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ผู้ส่งออกที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จำนวนมากเกินมาตรฐานที่อียูกำหนด จะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อใบรับรอง CBAM มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากผู้ประกอบการรายใดสามารถปรับตัว ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้น้อย ก็จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ หรือจ่ายน้อยกว่าปกติ
แน่นอนว่าเรื่อง CBAM จะกดดันผู้ส่งออกไทยไม่น้อย โดยเฉพาะ SMEs ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งเข้าไปให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และให้ความช่วยเหลือ เพราะอาจทำให้ SMEs ทางธุรกิจที่เพิ่ม
บนเวที “Climate Action Leaders Forum รุ่น 3” หรือ CAL Forum #3 ที่จัดโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ร่วมกับ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งงานนี้จัดในหัวข้อ “ทิศทางนโยบาย ภาคการเงิน การคลัง และการค้า”
โดย “อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานเรื่องการเตรียมพร้อมและรับมือมาตรการปรับคาร์บอน (CBAM) ของ EU ว่า เรื่อง CBAM นับเป็นความท้าท้ายของการส่งออกไทย เพราะต้องมีการรายงานสิ่งนำเข้าไปในสหภาพยุโรป รายงานกระบวนการผลิตว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปมากน้อยเพียงใด ตั้งแต่ 1 มกราคม ปี2569 จะมีการบังคับใช้จริง ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเอง ต้องศึกษาว่าธุรกิจของตัวเองว่าอยู่กลุ่มไหนสามารถปล่อยคาร์บอนได้แค่ไหน และในอนาคตอาจมีการขยายจาก 6 กลุ่ม ไปในอุตสาหกรรมเกษตร ปศุสัตว์ ด้วย
ทั้งนี้มองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับเรื่องดังกล่าว เช่นการวัดการปล่อยคาร์บอนมีกระบวนการวัดยังไง องค์กรควรวางกำลังคนในเรื่องนี้ยังไง รวมถึงการกำหนดงบประมาณยังไง ซึ่งอาจทำให้ SME ที่เงินทุนน้อยเดือดร้อนหนัก ที่สำคัญหน่วยงานที่จะเซ็นรองรับการปล่อยคาร์บอนจะมาจากที่ไหน ซึ่งหากเป็นหน่วยงานจากยุโรป หรือจากที่ไหน ต้องไปคุยกับอียูให้ได้ก่อน
ด้าน “ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กล่าวในหัวข้อ นโยบายการคลังด้าน Climate Change” ว่า ประเทศไทยปล่อยคาร์บอน 372 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตั้งเป้าหมายว่าปี2030 จะลดการปล่อยให้ได้ 30-40% ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่มีภาษีคาร์บอน โดยส่วนตัวมองว่า ภาษีคาร์บอนรัฐควรเป็นคนกำหนดราคา นอกจากนี้ยังเห็นว่าไทยควรใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาเป็นกลไกในการกำหนดราคา
นอกจากนี้สรรพสามิตยังมีแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ EASE Excise อย่างต่อเนื่อง ดังนี้
1. ด้านนโยบาย ESG จะมุ่งเน้นนโยบายภาษีสรรพสามิตที่ส่งเสริมภาษีสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ได้แก่ มาตรการภาษีคาร์บอน (carbon tax) นโยบายส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 มาตรการปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรถยนต์เพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้ส่งออกไทยต้องดำเนินการอย่างไร? CBAM มาตรการคาร์บอน เริ่มใช้ 1 ต.ค. 2566
CBAM ภาษีคาร์บอนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เริ่ม 1 ต.ค. นี้ ไทยพร้อมหรือยัง?
CBAM ภาษีคาร์บอน เครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศสู่ Net Zero