ขยะอวกาศคืออะไร กำจัดยังไง? รู้หรือไม่ มนุษย์เราสร้างขยะอวกาศและทิ้งไว้นอกโลกแล้วกว่า 130 ล้านชิ้น หนัก 8,000 กว่าตัน ปัจจุบันเรามีนโยบายกำจัดขยะอวกาศไหม?
ตั้งแต่มนุษย์เรารู้ว่า โลกอยู่จุดไหนของจักรวาล การส่งอุปกรณ์เทคโนโลยีและมนุษย์ขึ้นไปสำรวจอวกาศก็เพิ่มมากขึ้น และทุก ๆ ครั้งของการสำรวจอวกาศก็จะทิ้งร่องรอยบางอย่างไว้ในห้วงอวกาศเสมอ และสิ่งที่ทิ้งไว้มากสุด ดูเหมือนจะเป็นขยะอวกาศ
ขยะอวกาศ คืออะไร?
ขยะอวกาศ (Space junk หรือ space debris) คือวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้สำรวจอวกาศและเมื่อหมดอายุการใช้งานระหว่างภารกิจ เสียหรือถูกปลดระวางก็จะถูกทิ้งให้ล่องลอยไปเรื่อย ๆ ในอวกาศ
ตัวอย่างขยะอวกาศเช่น ดาวเทียม ยานอวกาศ เครื่องยนต์บางส่วนที่ถูกสลัดทิ้งก่อนไปทำภารกิจ หรือแม้กระทั่ง กล้องถ่ายรูป ถุงมือ และอุปกรณ์ซ่อมยานอวกาศต่าง ๆ ที่นักบินเผลอทำหลุดมือไป
แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นเยอะ ๆ นั้นคือเศษซากของดาวเทียมหรือไม่ก็ยานอวกาศที่ถูกปลดระวางเกิดการชนกัน จนทำให้เศษซากชิ้นส่วนประกอบรอบๆหลุดออกมา เพราะชิ้นส่วนอวกาศที่ถูกทิ้งไว้จะเคลื่อนไหวไปตามแรงเหวี่ยงอวกาศด้วยความเร็ว 8-10 กิโลเมตรต่อวินาที
การท่องอวกาศของมนุษย์คือหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
ขยะอวกาศถูกทิ้งไว้ในห้วงของจักรวาลตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีของการสำรวจ นั่นหมายถึงปี ค.ศ. 1950 ตั้งแต่เราเฝ้ามองดวงดาวด้วยดาราศาสตร์และเราเริ่มเข้าสู่วงโคจรได้สำเร็จในเชิงอวกาศศาสตร์ จนมาถึงปี 1957 ที่สหภาพโวเวียตส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 ที่บรรทุกมนุษย์ออกไปนอกโลกสำเร็จเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น นานาชาติแต่ละชาติก็เริ่มยอมไม่ได้จึงเริ่มมองหาวิธีท่องอวกาศในแบบฉบับตนเอง ก่อให้เกิดกิจการอวกาศเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ก้าวที่สำคัญมาพร้อมกับร่องรอยที่ตอกย้ำความเป็นมนุษย์
เข้าใจว่า เพื่อทำให้การสำรวจอวกาศเป็นไปได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย ความตื่นตัวในการสำรวจ ทำให้มนุษย์เรามักมองข้ามปลายทางของปัญหาที่เราสร้างขึ้นไม่รู้ตัว ขยะอวกาศก็เหมือนไมโครพลาสติก และยานอวกาศก็เหมือนถุงพลาสติก
ถุงพลาสติกถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ในการห่อหิ้วสิ่งของจากร้านค้ากลับบ้าน
แต่ในปัจจุบัน ถุงพลาสติกกลายเป็นตัวร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม โทษฐานที่ย่อยสลายยาก แพร่หลาย ใช้ไม่กี่ครั้งก็ทิ้งลงสิ่งแวดล้อม อันตรายต่อสัตว์และระบบนิเวศอย่างรุนแรง เมื่อถุงพลาสติกถูกแดดถูกฝนก็เกิดการแตก ฉีกขาด กลายเป็นไมโครพลาสติกขนาดเล็ก ที่ปนอยู่ตามสิ่งแวดล้อมรวมถึงจานอาหารของเราได้ง่ายดาย
เช่นเดียวกัน ชิ้นส่วนของเครื่องชิ้นใหญ่ กระจัดกระจายอยู่นอกโลกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แม้ยังไม่มีใครได้รับผลกระทบโดยตรงจากขยะอวกาศมากนัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สร้างผลกระทบเลย
ผลกระทบของขยะอวกาศต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโลก
จากข้อมูลของ European Space Agency (ESA) รายงานว่า โลกของเรามีขยะอวกาศลอยอยู่รอบ ๆ เกือบ 130 ล้านชิ้นแล้ว ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 1 มม. ถึง 10 ซม. หากรวมกันก็มีน้ำหนักมากกว่า 8,000 ตันแล้ว ขยะอวกาศส่วนใหญ่ไม่เกิดผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรง เช่น การตกใส่ลงบนหัวหรือบ้านของเรา
การที่ขยะลอยไปรอบโลก ๆ แรงดึงดูดของโลกจะเริ่มดึงเศษซากเหล่านี้กลับมาสู่โลกอยู่แล้ว และเมื่อกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศโลก มันก็จะเกิดการเผาไหม้จนหมดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การเผาไหม้ของขยะอวกาศนี่แหละคือตัวการ มันได้ปล่อยสารเคมีสู่ชั้นบรรยากาศของโลกด้วย สารเคมีเหล่านี้ทำให้โอโซนของโลกอ่อนแอ หรือบางครั้งถังเชื้อเพลิงที่ระเบิดออกมาทั้งจากภารกิจที่สำเร็จแล้วหรือไม่สำเร็จอาจก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง กระทบสัตว์และคนในพื้นที่ได้ และเพิ่มก๊าซเรือนกระจกให้กับโลกได้ง่ายมากขึ้นด้วย
การติดตามขยะอวกาศ
ในปัจจุบันเราสามารถติดตามขยะอวกาศที่ถูกทอดทิ้งไว้นอกโลกได้แล้วผ่านแผนที่ขยะอวกาศที่เผยแพร่ผ่าน เว็บไซต์ AstriaGraph ผลงานของศาสตราจารย์ มอริบา จาห์ วิศวกรการบินและอวกาศจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส สามารถดูได้ตั้งแต่วันเดือนปีที่ผลิตของชิ้นส่วน เป็นของประเทศไหน ใครเป็นผู้ดำเนินการ ใครใช้ มีวัตถุประสงค์อะไร อายุการใช้งานนานเท่าไหร่ ปล่อยที่ไหน เป็นต้น
การจัดการขยะทั้งในปัจจุบันและอนาคต
เนื่องจาก ขยะอวกาศสามารถทำการเผาไหม้ตนเองได้ เลยไม่มีระบบการกำจัดอย่างเป็นระบบ และในปัจจุบันไม่ใช่แค่รัฐตัวแทนของชาติเท่านั้นที่มีการสำรวจอวกาศหรือทำธุรกิจอวกาศ แต่ยังมีของเอกชนด้วย ที่เริ่มท่องอวกาศเองได้ และเริ่มมองวิธีทำให้ชิ้นส่วนอวกาศของตนเองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติ จึงระบุกฎใหม่ว่า ทุกบริษัทและทุกชาติที่มีกิจการอวกาศจะต้องหาวิธีกำจัดอุปกรณ์อวกาศของตนเองออกจากวงโคจรโลก ภายใน 25 ปีหลังจากปลดระวาง ซึ่งมีหลายแห่งเสนอวิธีการกำจัดส่วนที่เหลือด้วย
ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนเส้นทางของวัตถุให้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเร็วขึ้น การใช้แม่เหล็กมาดูดพวกมันรวมกันและนำกลับลงมากำจัดบนโลก หรือการใช้อุปกรณ์คล้ายอวนขนาดใหญ่ หว่านกวาดขยะอวกาศรวมๆกันไว้และทยอยกลับลงมายังโลก หรือใช้เลเซอร์กำจัดทิ้งทันทีไปเลย แล้วคุณล่ะมีวิธีกำจัดขยะอวกาศมาเสนอไหม?
ที่มาข้อมูล
The European Space Agency
ข่าวที่เกี่ยวข้อง