svasdssvasds

TGO ชู "กลไกคาร์บอนเครดิตเป็นแรงจูงใจ" หนุนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมฟื้นฟูป่า

TGO ชู "กลไกคาร์บอนเครดิตเป็นแรงจูงใจ"  หนุนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมฟื้นฟูป่า

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO มุ่งส่งเสริมการปลูกและฟื้นฟูป่าในพื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรม โดยใช้กลไกคาร์บอนเครดิตเป็นแรงจูงใจ ส่งเสริมทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมฟื้นฟูป่า และระบบนิเวศป่าไม้

โครงการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย หรือโครงการ T-VERเป็นโครงการคาร์บอนเครดิตที่มีการดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานโครงการคาร์บอนเครดิตในระดับสากล ซึ่งมุ่งเน้นการลดและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกอย่างถาวรรวมถึงการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ชุมชน และประชาชนในท้องถิ่น

ดังนั้นโครงการใดที่ประสงค์พัฒนาเป็นโครงการคาร์บอนเครดิต จึงต้องมีการดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิด
การลดก๊าซเรือนกระจกหรือก่อให้เกิดการกักเก็บคาร์บอนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องเป็นการดำเนินงานเพิ่มเติม
จากการดำเนินงานโดยปกติทั่วไป และ ต้องไม่ใช่กิจกรรมที่ดำเนินการตามข้อบังคับของกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง และปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกต้องเกิดขึ้นอย่างถาวร มีวิธีการคำนวณ การตรวจวัด
ที่ได้มาตรฐาน และสอดคล้องกับแนวปฎิบัติสากล ต้องผ่านกระบวนการทวนสอบจากบุคคลที่สาม นอกจากนี้การดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิตต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบจากการดำเนินโครงการ

โครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ มีอายุโครงการ 15 ปี ซึ่งผู้พัฒนาโครงการต้องดำเนินการปลูก ดูแล อนุรักษ์ป่า จาก พื้นที่รกร้าง หรือป่าเสื่อมโทรมให้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์

  • ต้องมีการวางแปลงตัวอย่างเพื่อสำรวจมวลชีวภาพ โดยการวัดความโต ความสูงของต้นไม้ที่มีอยู่จริง ในพื้นที่โครงการเป็นไปตามหลักวิชาการ เพื่อนำมาประเมินปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้ในเนื้อไม้
  • คาร์บอนเครดิตจะขอรับรองได้เฉพาะกิจกรรมที่ดำเนินการเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมเท่านั้น เช่น ต้นไม้ปลูกใหม่ หรือการปลูกต้นไม้เสริมในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยต้องมีการดูแลรักษาให้เป็นป่าอุดมสมบูรณ์
  • พื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ไม่สามารถพัฒนาเป็นโครงการคาร์บอนเครดิตได้
  • ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะได้รับการรับรอง จะต้องได้รับการทวนสอบเพื่อยืนยันความถูกต้อง และความมีอยู่จริงของพื้นที่โครงการ โดยนิติบุคคลที่สาม ที่ได้รับการรับรองระบบงาน (Accreditation) เป็นหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐาน ISO 14065, ISO 17029 และ IAF MD 6 จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
  • กระบวนการทวนสอบปริมาณคาร์บอนเครดิตต้องทำอย่างเป็นระบบ มีความเป็นอิสระ และบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน ISO 14064-3

ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชนปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ผ่านกลไกคาร์บอนเครดิต โดยที่หน่วยงานรัฐยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่ นอกจากนี้การดำเนินโครงการยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น เพิ่มแหล่งน้ำ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นต้น

กลไกคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยมุ่งสู่ Net Zero

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related