ในงาน Sustainability Dialogue “Mission to Carbon Neutral "ซึ่งจัดโดยบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) รวมพลังกับภาครัฐ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ตลอดจนองค์กรมหาชน ปรับตัวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อโลกในวงกว้างหลากหลายมิติ เช่น ภาวะโลกร้อนจากอุณหภูมิโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้นานาประเทศหาแนวทางการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อกอบกู้และรักษาโลก โดยร่วมกันกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย (Sustainable Development Goals: SDGs)
รวมถึงการทำความตกลงปารีสหรือ Paris Agreement ตั้งเป้าหมายจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ในขณะที่ประเทศไทยได้มีการประกาศเป้าหมายสำคัญในความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) Emission ภายในปี พ.ศ.2608 จากการประชุม COP26 โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมผลักดันให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผลตามที่ตั้งไว้
นางวรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “โอสถสภาได้วางแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กับการขับเคลื่อนธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2562 โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานระยะสั้นภายในปี พ.ศ.2568 ใน 5 ด้าน ได้แก่
1.ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน คือการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจกับคู่ค้ารายย่อย จำนวน 450 ราย การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้จัดหาวัตถุดิบท้องถิ่น 500 ราย และ 100% ของคู่ค้ารายสำคัญได้รับการประเมินครอบคลุม 3 ด้าน คือสิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG
2. ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค คือ 100% ของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจะมีส่วนประกอบของน้ำตาลลดน้อยลง และ 50% ของกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและลูกอมจะเป็นสูตรปราศจากน้ำตาล
3. ด้านการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย 100% ของบรรจุภัณฑ์จะต้องนำไปรีไซเคิล ใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้ภายในปี พ.ศ.2573
4. ด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยจะลดปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลดลง 40%
5. ด้านการจัดการพลังงานและการบริหารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะลดปริมาณพลังงานที่ใช้ในโรงงาน 10% และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต 15% พร้อมตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 30% ภายในปี พ.ศ.2573 สานเป้าหมายระยะยาวมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutrality ภายในปี พ.ศ.2593
งานเสวนาในวันนี้คือการรวมพลังหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มาร่วมแบ่งปันมุมมองและทิศทางนโยบายด้านความยั่งยืน ถ่ายทอดโรดแมปความยั่งยืน ตลอดจนเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality และต่อยอดสู่การสร้างความร่วมมือเครือข่ายธุรกิจ เพื่อให้พันธกิจรักษ์โลกบรรลุได้ตามเป้าที่วางไว้”
นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานเสวนาว่า กรมการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นกรมที่เพิ่มจัดตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมและดูแลให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality ) และ Net Zero ตามแผนการลดความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่กเราจะต้องเร่งดำเนินการการออกร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รายงานความคืบหน้าของการร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศว่า ขณะนี้ทางกรมอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดซึ่งจะต้องใช้เวลา และการดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน การออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อสร้างมาตรการในการจัดทำรายงาน ตรวจวัดการปล่อยคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจ ซึ่งจะมีทั้งมาตรการการบังคับใช้ แนวทางการปฏิบัติ รวมไปถึงมาตรการทางการเงิน ซึ่งเป็นมาตรการที่จะต้องหารือกับหลายภาคส่วน เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเสนอฝ่ายนโยบายได้ประมาณต้นปี 2567
อโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(อบก.) กล่าวว่า ความตื่นตัวด้านคาร์บอนเครดิตในไทยนั้นอยู่ในกระแสตอบรับมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนเครดิตในหลายๆ ประเภท อย่าง Carbon Offset สามารถทำโครงการลดคาร์บอน อย่างคาร์บอนเครดิต ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ของประเทศไทยใช้ T-VER โครงการภาคสมัครใจ ในส่วนของ Cap and Trade จะจำกัดสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ประกอบการ แต่อนุญาตให้มีการซื้อขายกันได้ สามารถนำไปซื้อขายในคาร์บอนเครดิตในตลาดได้ และ Carbon Tax การเก็บภาษี เชื้อเพลิงต่างๆ และผลิตภัณฑ์ ขึ้นอยู่กับบางประเทศ ส่วนที่ปล่อยเกินเก็บภาษี
ตลาดคาร์บอนในไทยเป็นภาคสมัครใจ จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งระดับคาร์บอนมีการรับรองมี 3 แบบ
1. International การรับรองจาก องค์กรระดับประชาชาติ ซึ่งสามารถรับรองคาร์บอนเครดิตได้
2. Independent เจ้าของมาตรฐานเป็นองค์กรอิสระ ที่ให้การรับรอง
3. Domestic อย่างหน่วยงานภาครัฐ เช่น TGO หน่วยงานภายในประเทศ มาตรฐานหน่วยงานอิสระมีมากที่สุด 58%
ราคาคาร์บอนเครดิตนั้นในไทยจะขึ้นอยู่ตามสถานการณ์ตลาด แต่ในปัจจุบันไทยอยู่ในสถานการณ์ Over Supply ในภาคสมัครใจราคาก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยประเภทต่างๆ ซึ่งโครงการประเภทป่าไม้ก็มีราคาสูงกว่าโครงการประเภทพลังงาน รวมถึงมาตรฐานที่ใช้ต่างประเทศ ความเก่าใหม่ของคาร์บอนเครดิตแต่ในไทยนั้นดูเรื่องราคากับความสามารถ รวมถึงเทคโนโลยีที่ทำให้ได้คาร์บอนเครดิตมากกว่า
ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ประเทศไทยสร้างขยะพลาสติกต่อประชากรสูง อันดับที่ 5 ของโลก ปริมาณขยะพลาสติก 4,796,494 ตัน/ปี สัดส่วนขยะพลาสติกในขยะทั่วไปมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ซึ่งมีความเร่งด่วนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ซึ่งการปรับตัวนั้นเป็นสิ่งไม่ยาก ถ้าหน่วยงานรัฐนั้นมีความเข้าใจพฤติกรรมหรือสถานการณ์ผู้ประกอบการที่ดีจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ในอนาคต
ในส่วนของ ESG นั้นอยากเปรียบเทียบเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจฐานรากมีส่วนช่วยที่จะทำให้เศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน แต่ SME ส่วนใหญ่นั้นยังไม่ก้าวเข้าสู่ดิจิทัล และความยั่งยืนโมเดล BCG ใช้เป็นตัวขับเคลื่อน และใช้ความเป็นผู้ประกอบการที่จะขับเคลื่อนเรื่องของ BCG และนำเอา SDG มาใช้ควบคู่กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีเรื่องของสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมการสร้างสมดุล และการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นมุมมองของ SME ที่จะเข้าถึง ซึ่งทิศทางของโลกจะเข้าสู่ Green Economy อย่าง การจัดการขยะชุมชนใช้ประโยชน์จากขยะครบวงจร เปลี่ยนผ่านสู่สังคมขยะเป็นศูนย์
เนื้อหาที่น่าสนใจ :