svasdssvasds

เจาะภารกิจ "โอสถสภา" ลุยแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนองค์กรร้อยปี

เจาะภารกิจ "โอสถสภา" ลุยแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนองค์กรร้อยปี

“โอสถสภา” องค์กรเก่าแก่กว่า “ร้อยปี” ขับเคลื่อนธุรกิจสร้างการเติบโตจากรุ่นสู่รุ่น

 ทว่า ท่ามกลางบริบทโลกเปลี่ยน ผู้บริโภคปรับ ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทำให้ทุกภาคส่วนของสังคม รวมถึงองค์กรธุรกิจต่างตระหนักถึงแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ Sustainable Development และ “โอสถสภา” เป็นอีกองค์กรที่เดินหน้าวางกรอบการทำงาน สร้างรากฐานเพื่อดำเนินธุรกิจควบคู่กับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลก ทั้งมิติทางสังคม ชุมชน ผู้คน ตลอดจน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ (Stakeholders) ให้เติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน

 วรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า การขับเคลื่อนธุรกิจยุคปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าและบริการทุกอย่าง โดยคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น องค์กรยังต้องส่งเสริมการเจริญเติบโตของของสังคมผ่านการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนด้วย

  ปี 2562 “โอสถสภา” เริ่มวางกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนหรือ Sustainability Framework เชิงรุก และกำหนดประเด็นด้านความยั่งยืนที่สำคัญของบริษัท เพื่อวางแผนงานขับเคลื่อนสู่เป้าหมายขั้นต้นในปี 2568 ปูทางสานเป้าหมายระยะยาวในปี 2593 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) หรือการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์

“หนึ่งในภารกิจสำคัญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโอสถสภา คือการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593”

 ทั้งนี้ โอสถสภากำหนด Three plus one เป็นกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนอยู่ โดยมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อ “เศรษฐกิจ สังคม" และ “สิ่งแวดล้อม” ผนวกกับการบริหารจัดการบุคลากรในองค์กร ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดีหรือ ESG

 พร้อมกันนี้ ได้วางรากฐาน การสร้างความเข้าใจ การสร้างวิธีการคิดหรือ Mindset ของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานกว่า 3,500 ชีวิต เพื่อมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

 เจาะลึกภารกิจการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้บรรลุเป้าหมายขั้นแรกในปี 2568 บริษัทฯโฟกัส 5 ด้านสำคัญ ดังนี้ 

  1. การจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน โอสถสภา มีแผนการดำเนินงานหลัก คือเนื่องจากธุรกิจของบริษัทฯมีความเชื่อมโยงกับคู่ค้าจำนวนมาก จึงให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิต ผ่านการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคู่ค้ารายย่อยที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบเศษแก้ว ผู้จัดหาชิ้นส่วนอะไหล่ และผู้ขนส่ง จำนวน 450 ราย รวมถึงการพัฒนาศักยภาพให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้จัดหาวัตถุดิบสมุนไพรในท้องถิ่น จำนวน 500 ราย  นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักในการทำธุรกิจของคู่ค้าด้วยความรับผิดชอบ ตามหลัก ESG อย่างสม่ำเสมอ โดยคู่ค้ารายสำคัญจะต้องมีการทำแบบประเมินด้านความยั่งยืนทุกปี
  2. การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค โดยโอสถสภาตั้งเป้าหมายว่าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจะมีการปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลให้ต่ำกว่า 6% รวมถึงสูตรปราศจากน้ำตาล เพื่อรองรับเทรนด์ผู้บริโภครักสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันทำได้ 100% และต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและลูกอมที่ทำได้ 50% และตั้งเป้าหมายปรับปรุงให้เป็นสูตรปราศจากน้ำตาลอีกด้วย

 3. บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน จะดำเนินการ 2 ส่วนคือก่อนและหลังใช้ โดยก่อนนำมาใช้ ปี 2573 มีการวางเป้าหมายว่าบรรจุภัณฑ์ของโอสถสภาจะต้องทำจากวัสดุที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล หรือใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ทั้ง 100% และภายในปี 2568 จะยุติการใช้พลาสติกพีวีซี (PVC) ในบรรจุภัณฑ์ และลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ลง 5% ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่ทำสำเร็จแล้วคือการลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วลง 5% ซึ่งนวัตกรรมนี้นอกจากจะทำให้ขวดแก้วมีน้ำหนักเบาลงแต่ยังคงความแข็งแรงเหมือนเดิม ช่วยให้ขนส่งสินค้าใช้พลังงานน้อยลง ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงอีกด้วย

ส่วนหลังใช้ บริษัทมีเป้าหมายในการเก็บบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วกลับคืนมายังกระบวนการผลิต ผ่านโครงการ “ส่งขวดแก้วสู่ขวดแก้ว หรือ Bottle to Bottle” ให้ได้ 4 แสนตัน ภายในปี 2568

 4. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เนื่องจากโอสถสภาผลิตเครื่องดื่มเป็นธุรกิจหลัก มีความต้องการใช้น้ำในกระบวนการผลิตเป็นปริมาณมาก จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ และบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลง 40%

และภารกิจที่ 5.การจัดการพลังงานและบริหารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัทตั้งเป้าหมายเพื่อลดการใช้พลังงานลง 10% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ผ่านการเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนและการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงงาน และอยู่ระหว่างศึกษาการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มด้วย 

“ความท้าทายของภารกิจรักษ์โลกหรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อโลกของเราในปัจจุบันมีหลายมิติ ทั้งการพัฒนาธุรกิจให้ดำเนินได้ตามปกติหรือพัฒนาขึ้น โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินการลง ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ต้องนำเข้ามาช่วยในการพัฒนากระบวนการต่างๆ เช่น การใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาด การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการนำวนัตกรรมใหม่ๆสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกมาใช้ เป็นต้น”