ESG หรือที่ย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance คือหลักกรอบแนวคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งในขณะนี้กำลังได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน
แม้กรอบแนวคิดนี้อาจยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักในวงกว้าง เหมือนกับคอนเซปด้านความยั่งยืนอื่นๆ อย่างเช่น SDGs แต่ในงาน ESG Symposium 2023 จัดโดย บริษัท SCG เราได้เห็นหลายธุรกิจทั้งไทยและต่างชาติ ต่างออกมาโชว์ตัวแสดงศักยภาพในการนำหลัก ESG มาใช้ในการประกอบธุรกิจ เรามารู้จัก 3 ตัวอย่างเด่นๆ จากภายในงานนี้กันดีกว่า
เปลี่ยนธุรกิจยานยนต์ให้เป็นสีเขียวโดย Toyota
Hiroki Nakajima รองประธานบริษัท Toyota เผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยถือว่าเป็น hub สำคัญของบริษัทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น บริษัท Toyota จึงได้ร่วมกับภาคธุรกิจยานยนต์ญี่ปุ่นอื่นๆ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ผลิตและใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อนำไปสู่การบรรลุ carbon neutrality ในภาคธุรกิจยานยนต์ให้ได้รวดเร็วที่สุด ไปพร้อมๆ กับ สร้างอิสรภาพในการเดินทางให้กับทุกคน
นอกจากนี้ Hiroki ยังได้เผยถึงความร่วมมือที่บริษัท Toyota ทำร่วมกับบริษัท CP นั่นคือการทำจุดชาร์ตไฟรถพลังงานไฟฟ้า โดยใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงาน biogas ซึ่งหมักโดยใช้มูลไก่จากฟาร์มของ CP ซึ่งไม่เพียงเป็นการนำของเสียจากการผลิตภาคเกษตรมาใช้ประโยชน์ให้เป็นพลังงานเท่านั้น ยังเอาพลังงานเหล่านี้มาใช้ในการให้พลังกับรถยนต์พลังไฟฟ้า ถือเป็นการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อนถึงสองต่อ
เก็บพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบความร้อนสำหรับอุตสาหกรรมโดย Rondo
จากการที่ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้พลังงานความร้อนในการผลิต แต่ในยุคที่โลกหันมาใช้พลังงานสะอาด บริษัท Rondo นำโดย John O’Donnell ซีอีโอของบริษัท เปิดเผยว่า Rondo ได้ร่วมกับบริษัท SCG ผลิตแบตเตอรีความร้อน ที่สามารถแปลงพลังงานสะอาดจากพลังงานลมและแสงแดด ให้เป็นพลังงานความร้อนสำหรับใช้ได้ในภาคอุตสาหกรรม
John กล่าวว่า สำหรับการผลิตแบตเตอรีแบบพิเศษที่ใช้เก็บความร้อน ได้ร่วมกับบริษัท SCG ในการผลิตอิฐแบบพิเศษที่เก็บความร้อนได้กว่า 1,500 องศาเซลเซียส
เขากล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลมและแสงแดดสูง และต้นทุนพลังงานสะอาดกำลังมีต้นทุนที่ถูกลงเรื่อยๆ จนขณะนี้มีต้นทุนถูกกว่าถ่านหินแล้วด้วยซ้ำ ดังนั้นพลังงานเหล่านี้จึงสามารถมาตอบโจทย์การใช้พลังงานความร้อนในภาคอุตสาหกรรมได้
“นวัตกรรมแบตเตอรีเก็บความร้อนจากพลังงานสะอาดสำหรับภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ได้” John กล่าว
ไบโอพลาสติกรักษ์โลกโดย Olefins & Polyolefins
จากการที่ตอนนี้ประชากรโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้ยังคงมีความต้องการใช้ทรัพยากรโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น Roger Marchlonl ประธานบริษัท Olefins & Polyolefins เปิดเผยว่าทางบริษัทได้ริเริ่มเอาผลพลอยได้จากการผลิตเอธานอลจากอ้อย มาผลิตให้เป็นไบโอพลาสติก ที่ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการนำมาผลิตพลาสติกได้
โดยขณะนี้ บริษัท Olefins & Polyolefins สามารถ ผลิตไบโอพลาสติกจากอ้อยได้มากถึง 200,000 ตัน/ปี และสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก เขาให้ข้อมูลว่าจากการผลิตไบโอพลาสติกจากอ้อยภายใน 1 ปี สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้เทียบเท่ากับจำนวนการปลดปล่อยคาร์บอนทั้งหมดของรถยนต์ในเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล ปลดปล่อยรวมกัน 70 วัน
"ไบโอพลาสติกจากอ้อย จึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมน่าสนใจที่ภาคธุรกิจจะสามารถช่วยแก้โลกร้อนได้" Roger กล่าว