วันนี้จะพาไปติดตามเขื่อนวชิราลงกรณในด้านการส่งเสริมชุมชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ความยั่งยืน รวมถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
กว่า 37 ปี ที่เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ภายใต้การดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาชนมากมาย ทั้งทำหน้าที่เก็บกัก-ปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภค บริโภค และผลักดันน้ำเค็ม รวมทั้งเป็นแหล่งประมงน้ำจืด โดยการปล่อยน้ำเพื่อกระบวนการเหล่านั้นทำให้เกิดผลพลอยได้เป็นกระแสไฟฟ้า รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ พร้อมสร้างสรรค์โครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม
เขื่อนวชิราลงกรณ เป็นเขื่อนหินถมแห่งแรกของประเทศไทยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2522 แล้วเสร็จในปี 2527 ซึ่งในวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “เขื่อนวชิราลงกรณ” ตามพระนามาภิไธยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร แทนชื่อเดิม “เขื่อนเขาแหลม”
วันนี้จะพาไปติดตามเขื่อนวชิราลงกรณในด้านการส่งเสริมชุมชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ความยั่งยืน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมภายในเขื่อนให้สวยงามตามธรรมชาติอยู่เสมอ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติให้แวะเวียนเข้าไปสัมผัสธรรมชาติไม่ขาดสาย ช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ชุมชนโดยรอบอย่างมาก
อีกหนึ่งโครงการของเขื่อนวชิราลงกรณ ที่น่าสนใจ และ สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างแท้จริง คือ โครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” เขื่อนวชิราลงกรณ ของ กฟผ. ซึ่งได้เดินตามแนวคิด “โคก หนอง นา โมเดล” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งรัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ในการจัดการพื้นที่ให้เหมาะกับการเกษตร ผสมผสานการเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่ เป็นการทำเกษตรในพื้นที่จำกัด แต่สามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างเห็นผล เปลี่ยนแนวคิดสู่การทำเกษตรอินทรีย์แบบไม่ใช้สารเคมี และสร้างความเข้าใจในการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง
ทั้งนี้โคกหนองนาโมเดลจะช่วยให้ชุมชนประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ด้านอุปโภค-บริโภค เพราะสามารถปลูกพืชต่าง ๆ ไว้ในพื้นที่และสามารถใช้สอยได้ครอบคลุมทุกปัจจัย ช่วยลดความกังวลเรื่องรายรับในช่วงที่ติดขัดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังไม่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม หรือความแห้งแล้งภายในพื้นที่ นำมาสู่การแก้ปัญหาให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ภายในเขื่อนวชิราลงกรณ ได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณ “โคก หนอง นา โมเดล” 1 ใน 10 ศูนย์ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ 7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้า กฟผ. โดยมีคณะวิทยากรประจำศูนย์ฯ เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โคก หนอง นา ซึ่งเปิดโอกาสให้ลงมือปฏิบัติจริงใน 9 ฐานการเรียนรู้ เช่น ฐานคนรักษ์ป่า เรียนรู้การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการปลูกไม้ 5 ระดับ ฐานคนรักษ์น้ำ เรียนรู้การจัดการน้ำโดยหลักธรรมชาติ เช่น การขุดคลองไส้ไก่ การทำฝายน้ำล้น และฝายถาวร ฐานคนมีไฟ เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้โซลาร์เซลล์สำหรับการเกษตร เป็นต้น มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืน 3 ด้าน ด้านอาหาร ด้านน้ำ และด้านพลังงาน
และยังมีโครงการห้องเรียนสีเขียว ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีอุปนิสัยในการประหยัดพลังงานไฟฟ้าและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ด้วยความสนุกสนานเพื่อให้เกิดทัศนคติในการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและนำไปปฏิบัติจนเป็นปกตินิสัย โดยปัจจุบันมีโรงเรียนที่ร่วมกิจกรรมกับโครงการห้องเรียนสีเขียวจำนวน 1,306 แห่ง พร้อมสนับสนุนงบประมาณ และกิจกรรมเพื่อสังคมอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น กิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ความตระหนักในการอนุรักษ์ป่า สร้างคน สร้างป่า สร้างโลกให้เย็น ส่งเสริมฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และชะลอปริมาณน้ำไหลเซาะหน้าดิน รวมถึงฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ได้รับความเสียหาย ให้มีความสมบูรณ์กลับสู่สภาพเดิม
“เขื่อนวชิราลงกรณ กฟผ. อยู่คู่กับคนไทยมากว่า 37 ปี ด้วยความมุ่งมั่นดูแลรักษาความมั่นคงด้านพลังงานภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”