วันนี้จะชวนรู้จัก ! Smart Grid แม่ฮ่องสอน พลังงานสีเขียว เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า กับแนวทางพัฒนาพลังงาน 4 ด้าน
แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่เกิดปัญหาไฟตกไฟดับบ่อยครั้ง เนื่องจากรายล้มไปด้วยภูเขาสูงรวมถึงป่าต้นน้ำ จึงไม่สามารถก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านได้ มีเพียงระบบส่งไฟฟ้าขนาด 115 กิโลโวลต์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่เชื่อมโยงมาจากจังหวัดเชียงใหม่ด้วยระยะทางกว่า 170 กิโลเมตรเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการขยายตัวทั้งภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเดินหน้าเข้าสู่เมืองท่องเที่ยวสีเขียวที่จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมบูรณาการ โดยการนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดเข้ามาบริหารจัดการที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
วันนี้จะพาไปทำความรู้จักโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โครงการตามแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศไทยในระยะสั้น พ.ศ. 2560 – 2564 เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพัฒนาระบบไฟฟ้าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้มีความมั่นคงมากขึ้น เป็นความร่วมมือระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน กระทรวงพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าดั้งเดิมให้เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาบริหารจัดการเชื่อมโยงระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และโรงไฟฟ้าที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ เช่น ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ขีดความสามารถในการส่งจ่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ตลอดจนถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของชาวแม่ฮ่องสอน จากนั้นระบบจะประมวลผลและสั่งการให้แหล่งผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของจังหวัดแม่ฮ่องสอนทำงานร่วมกันอย่างสมดุล มีเสถียรภาพ ซึ่งในช่วงเวลาปกติจะเชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้าหลักของ กฟภ. ที่จ่ายเข้าสู่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และสามารถแยกตัวเป็นอิสระเมื่อระบบไฟฟ้าหลักขัดข้อง (Islanding Operation)
สำหรับโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นการผสานการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านแนวทางพัฒนาพลังงาน 4 ด้าน หรือ '4 SMART' ดังนี้
1. Smart Energy
สร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าสำรองเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยติดตั้งโซลาร์ฟาร์มขนาด 3 เมกะวัตต์ และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS)
2. Smart System
พัฒนาระบบควบคุมและจัดการพลังงานไฟฟ้า ให้ผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.Smart City
ส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียวโดยจัดเตรียม EV BUS พร้อมติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า นอกจากนี้ มีการติดตั้งป้าย Smart Billboard ตามจุดสำคัญ เพื่อแสดงข้อมูลการใช้พลังงานของ จ.แม่ฮ่องสอน รวมถึงการแจ้งเตือนประกาศภัยพิบัติ และข่าวสารจาก กฟผ. ติดตั้งไฟถนน LED ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ และ Solar Rooftop ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ
4.Smart Learning
สร้างศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้พลังงานสะอาด พร้อมผสานวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวแม่ฮ่องสอนอย่างลงตัว
จะเห็นได้ว่าโครงการพัฒนาสมาร์ทกริดจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่เพียงจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นต้นแบบสำคัญของการพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่สูงห่างไกลให้มีความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างมีเสถียรภาพ และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้อีกด้วย
โดยปลายเดือนสิงหาคม 66 นี้!! จะมีการเปิดศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ผาบ่อง อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสมาร์ทกริด (Smart Grid) การจัดการพลังงาน การผลิต การใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี ธรรมชาติและวิถีชีวิตอย่างลงตัว ผ่านสื่อจัดแสดงที่ทันสมัย ซึ่งประชาชน นักท่องเที่ยว จะได้เปิดโลกกว้างเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะสมาร์ทกริด ไปพร้อมกับชมวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชนผาบ่อง ท่านที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ผาบ่อง