svasdssvasds

สิ่งแวดล้อมโลกดีขึ้นได้ส่วนหนึ่งเพราะพระสันตะปาปาฟรานซิส

สิ่งแวดล้อมโลกดีขึ้นได้ส่วนหนึ่งเพราะพระสันตะปาปาฟรานซิส

บทบาทด้านสิ่งแวดล้อมของพระสันตะปาปาฟรานซิส วาจาและคำสอนที่ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมกับแรงศรัทธาทางศาสนาไปด้วยกันอย่างเรียบง่าย คำสอนที่เปลี่ยนใจผู้นำโลกมาแล้ว

วันที่ 21 เมษายน 2025 ข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือ “โป๊ปฟรานซิส” ได้แพร่สะพัดไปทั่วโลก ทำให้ศาสนิกชนชาวคาทอลิกต่างพากันเศร้าโศก

โป๊ปฟรานซิส เป็นประมุขแห่งศาสนจักรคาทอลิก และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวคาทอลิกประมาณ 1.4 พันล้านคน ทำหน้าที่เป็นเสาหลักให้กับคริสตจักคาทอลิก และเป็นหนึ่งในผู้นำโลกที่มีอิทธพลต่อการเคลื่อนไหวในประเด็นต่าง ๆ มากมาย เช่น ความเท่าเทียมทางเพศและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

Cr.Reuters

SPRiNG ในคอลัมน์ KeepTheWorld ขอพาไปดูบทบาทของโป๊ปฟรานซิสในห้วงเวลาที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม พระองค์ทิ้งมรดกล้ำค่าอะไรไว้บ้าง

โป๊ปฟรานซิส ช่วยเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจาก World Economic Forum ปี 2017 เผยว่า โป๊ปฟรานซิสทรงพบกับประธานาธิบดีทรัมป์ก่อนที่สหรัฐฯจะตัดสินใจถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ก่อนจากกัน พระองค์ทรงมอบหนังสือ Laudato Si ซึ่งเป็นสารตราที่พระองค์เขียนขึ้นเองในปี 2015 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนังสือดังกล่าวกระตุ้นให้มีการก่อตั้งขบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคาทอลิก ให้ชาวคาทอลิกช่วยกันทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระระดับโลก พร้อมกำหนดให้วันที่ 1 กันยายนของทุกปี เป็นวันอธิษฐานเพื่อสิ่งแวดล้อมของคริสตจักร

Cr.CORPUS CHRISTI

นอกจากนี้ Laudato Si ได้รับการตีพิมพ์เพียงไม่กี่เดือนก่อนที่การประชุมของสหประชาชาติที่จะนำไปสู่ข้อตกลงปารีสจะเริ่มขึ้น ผู้นำของหลายประเทศที่มารวมตัวกันได้กล่าวว่า “คำพูดของพระองค์เป็นหนึ่งในเสียงที่ดังที่สุดที่ผลักดันให้สิ่งต่าง ๆ สำเร็จลุล่วง”

ตัวอย่างข้อความในหนังสือ Laudato Si เช่น “เราไม่เคยทำร้ายและปฏิบัติต่อบ้านของเราอย่างเลวร้ายเท่ากับที่เราทำในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา เราทุกคนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวันเพื่อใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนมากขึ้น การลดก๊าซเรือนกระจกต้องอาศัยความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ และความรับผิดชอบ ในระดับที่กว้างขึ้น ผู้นำของเราต้องรับผิดชอบ”

คริสตินา เซนเนอร์ ผู้ช่วยศาสตาจารย์ด้านเทววิทยา วิทยาศาสตร์ และจริยธรรมแห่งมหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮม กล่าวว่า “นี่เป็นสารตราฉบับแรกในลักษณะนี้ที่พิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า รวมไปถึงมนุษย์กับโลกธรรมชาติ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ประเภทนี้กับความศรัทธา” เป้าหมายของพระองค์คือการกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกสนใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นขณะที่โลกยังคงร้อนขึ้นเรื่อย ๆ 

Cr.Reuters

นอกจากนี้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เคยเปลี่ยนให้วาติกันกลายเป็นจุดแวะพักสำหรับผู้นำด้านสภาพอากาศ รวมถึงเกรตา ธันเบอร์ก นักรณรงค์ด้านสภาพอากาศชาวสวีเดนด้วย

บนโลกโซเชียล Twitter (X ในปัจจุบัน) ของโป๊ปฟรานซิส ที่มีผู้ติดตามนับล้านคน เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่พระองค์ช่วยเผยแพร่แรงกระเพื่อมด้านสิ่งแวดล้อมไว้มากมาย อาทิ

1.ช่วงก่อนลงสารตราในปี 2015 เขาทวีตข้อความว่า “โลกซึ่งเป็นบ้านของเราเริ่มดูเหมือนกองสิ่งสกปรกขนาดใหญ่แล้วนะ”

2.เมื่อการประชุมโลกร้อนสิ้นสุดลง พระองค์โพสต์ว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ และการบรรเทาผลกระทบดังกล่าวถือเป็นสิ่งจำเป็นทางศีลธรรมสำหรับมนุษย์ ดังนั้น ศาสนาต่าง ๆ ทั่วโลกมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง”

3.เขียนถึงนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย โทนี่ แอ็บบอตต์ ก่อนที่ออสเตรเลียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม G20 ในปี 2015 “สิ่งแวดล้อมธรรมชาติถูกรุนรานอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากบริโภคนิยมที่ไร้ขอบเขต และนี่จะมีผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก”

4.การกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 1 กันยายนปี 2016 “เราไม่ควรเฉยเมยหรือยอมแพ้ต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการทำลายระบบนิเวศ ซึ่งมักเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่รับผิดชอบและเห็นแก่ตัวของเรา เพราะเรา สิ่งมีชีวิตนับพันชนิดจะไม่ถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วยการดำรงอยู่ของพวกมันต่อไปอีก เราไม่มีสิทธิ์เช่นนั้น”

5.ในเดือนมิถุนายนปี 2017 หลังสหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส พระองค์กล่าวว่า “เราต้องไม่ลืมว่าสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราใช้ร่วมกัน เป็นมรดกของมนุษยชาติทั้งหมด ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของทุกคน”

นอกจากนี้พระองค์ทรงกล้าวิจารณ์ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดมลภาวะที่ทำให้โลกร้อนมากที่สุด สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงวิจารณ์อย่างรุนแรงว่า “กลุ่มคนที่ร่ำรวยกว่าในสังคม มีนิสัยการสิ้นเปลืองและทิ้งขว้างเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”

“ประเทศยาวจน ซึ่งเป็นผู้ก่อมลภาวะจากสภาพอากาศน้อยที่สุด ควรได้รับความช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว” ซึ่งในปีนั้นเอง การประชุมของผู้นำโลกมีข้อตกลงใหม่งอกขึ้นมาคือ ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องชดเชยประเทศกำลังพัฒนาด้วยการจ่ายเงินทุนในการสร้างเศรษฐกิจและความมั่นคงเพื่อรับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น

Cr.Reuters

อย่างไรก็ตาม โป๊ปฟรานซิสยังคงขับเคลื่อนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้เข้าไปอยู่ในแรงศรัทธาทางศาสนาเรื่อยมาก วาจาของพระองค์สร้างการตระหนักรู้ให้ผู้คนทั่วโลกมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้หลายคนมองเห็นความเป็นจริงของโลกได้อย่างชัดเจน และแม้ว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสจะจากไปแล้วในวันนี้ แต่คำสอนของพระองค์จะยังคงตราตรึงในใจของปวงชนตลอดไป

ที่มาข้อมูล

World Economic Forum

CATHOLIC CLIMATE COVENANT

NPR

TIME

related