SHORT CUT
การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทำให้ต้องมีการประชุมลับของพระคาดินัลเพื่อเลือกโป๊ปพระองค์ใหม่เพื่อดำรงตำแหน่งประมุขสูงสุดของศาสนจักรโรมันคาทอลิก
หลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขสูงสุดของศาสนจักรโรมันคาทอลิก จำเป็นต้องมีการเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า “การประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปา (Conclave)” ที่จะจัดขึ้นภายใน 15 ถึง 20 วันหลังจากตำแหน่งว่างลง โดยพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะเดินทางมายังกรุงโรมและประชุมลับในห้องปิดผนึก ณ วัดน้อยของพระสันตะปาปา (โบสถ์ซิสตีน) เพื่อเลือกตั้งผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งองค์พระประมุขแห่งคริสตจักรองค์ใหม่
ทันทีที่การประชุมลับเริ่มขึ้น สมเด็จพระคาร์ดินัลทั้งหมดจะพักอยู่ ณ บ้านพักนักบุญมาร์ธาและไม่ปรากฎตัวนอกเขตวาติกันจนกว่าสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่จะได้รับเลือก โดยผู้ได้รับเลือกจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 ทั้งนี้พระคาร์ดินัลที่เข้าร่วมประชุมจะเขียนชื่อผู้ที่เห็นว่าเหมาะสมลงไปในบัตรเลือกตั้ง แล้วใส่เข้าไปในอ่างทองคำ
ถ้ายังไม่มีผู้ที่ได้รับเลือกเกิน 2 ใน 3 บัตรเลือกตั้งทั้งหมดจะถูกเผาในเตา พร้อมด้วยสารเคมีพิเศษที่ทำให้เกิดควันสีดำ (Fumata nera) ผ่านปล่องควันของวัดน้อยซิสติน แต่ถ้ามีผู้ได้คะแนนถึงข้อกำหนด บัตรเลือกตั้งของพระคาร์ดินัลก็จะถูกเผาเช่นกัน แต่จะใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดควันสีขาว (Fumata bianca) ผ่านปล่องเพื่อให้ประชาชนเห็นได้จากบริเวณจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ เป็นสัญลักษณ์ว่าการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่สำเร็จแล้ว
ในแต่ละวันจะมีการลงคะแนนมากสุด 4 ครั้ง หากยังไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเพียงพอ จะมีการลงคะแนนต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้พระสันตะปาปา แต่ถ้าเลือกถึง 3 วันแล้วยังไม่ได้ก็จะพัก 1 วัน ถ้าหลังจากการเลือกตั้งต่อกันอีก 7 ครั้งแล้วยังไม่ได้ ก็ให้หยุดพัก โดยทุก 7 ครั้งถ้าไม่ได้ต้องพักและให้สวดภาวนาและมีอภิปรายเล็กน้อยเพื่อให้เข้าใจ
อย่างไรก็ตาม การประชุมลับเพื่อเลือกตั้งองค์โป๊ปที่ยาวนานที่สุด คือ ต้องใช้เวลากว่า 3 ปี (ตั้งแต่ปี ค.ศ.1268–1271) แต่โดยปกติแล้วจะใช้เวลาเลือกกันแค่เพียง 1-3 วันก็จะได้องค์พระประมุขแห่งนครรัฐวาติกันองค์ใหม่
เมื่อการเลือกสำเร็จ เขาจะได้รับการถามว่า “คุณยอมรับหรือไม่?” หากตอบตกลง ก็จะถูกถามต่อว่า “คุณจะใช้พระนามใด?” จากนั้นเขาจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดพระสันตะปาปา พระคาร์ดินัลอาวุโสก็จะเดินออกสู่ใจกลางมุขแห่งโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ และประกาศต่อสาธารณชนเป็นภาษาละติน โดยมีความหมายว่า "ข้าขอประกาศต่อทุกคนถึงความน่ายินดีอันยิ่งใหญ่ว่า พวกเรามีพระสันตะปาปาแล้ว" จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ก็ปรากฏตัวสู่สาธารณะเป็นครั้งแรก ณ จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ และอีกไม่กี่วันถัดมาจึงมีการประกอบพิธีเฉลิมฉลององค์พระสันตะปาปาพระองค์ใหม่
พระคาดินัลที่มีสิทธิ์เลือกสมเด็จพระสันตะปาปาต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดโดยสังฆธรรมนูญ ดังนี้:
1. ต้องเป็นพระคาร์ดินัล (Cardinal) ที่แต่งตั้งโดยพระสันตะปาปา อาจเป็นพระสังฆราช (Bishop) หรือเป็นพระสงฆ์หรือแม้แต่สังฆานุกรได้ ถ้าได้รับอนุญาตพิเศษ
2. ต้องมีอายุต่ำกว่า 80 ปี พระคาร์ดินัลที่มีอายุ 80 ปีบริบูรณ์ก่อนวันว่างตำแหน่งพระสันตะปาปา จะหมดสิทธิ์ในการเข้าร่วมการเลือกตั้ง
3. ต้องไม่ถูกระงับหน้าที่ หรืออยู่ระหว่างการสอบสวนเรื่องผิดวินัย
ในปี ค.ศ.2025 มีพระคาร์ดินัลที่มีสิทธิ์เลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่จำนวน 135 พระองค์ และพระคาร์ดินัล 14 พระองค์ที่จะมีอายุครบ 80 ปีและจะสูญเสียสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลดลงในช่วงปลายปี เช่นเดียวกับพระคาร์ดินัลของไทยในปัจจุบันคือ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู (Michael Michai Kitbunchu) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัลโดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1983 ปัจจุบันมีอายุ 96 ปี หมดสิทธิ์ในการลงคะแนนเลือกตั้งพระสันตะปาปา
ขณะที่สมเด็จพระสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ปัจจุบันอายุ 75 ปี ดำรงตำแหน่งอัครมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ ได้รับแต่งตั้งโดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015 เป็นพระคาร์ดินัลองค์ที่ สองของประเทศไทย ต่อจากพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู
ที่มา