svasdssvasds

จีนปล่อย “ปลาสเตอร์เจียน” ลงสู่แม่น้ำแยงซี จำนวนกว่า 20,000 ตัว

จีนปล่อย “ปลาสเตอร์เจียน” ลงสู่แม่น้ำแยงซี จำนวนกว่า 20,000 ตัว

จีนปล่อยปลาสเตอร์เจียนกว่า 20,000 ตัวลงแม่น้ำแยงซี เพื่ออนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หลังออกกฎห้ามประมง 10 ปี โดยจีนยังเป็นผู้ผลิตคาเวียร์รายใหญ่ของโลก

SHORT CUT

  • ช่วงสงกรานต์ จีนปล่อยปลาสเตอร์เจียนกว่า 23,000 ตัวลงแม่น้ำแยงซี เมืองอี๋ชาง เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์
  • รัฐบาลจีนออกมาตรการห้ามประมงในแม่น้ำแยงซี 10 ปี ตั้งแต่ปี 2021 พบพันธุ์ปลาเพิ่มขึ้น 25 ชนิด พร้อมเยียวยาชาวประมงกว่า 231,000 คน
  • จีนเป็นผู้ผลิตคาเวียร์รายใหญ่สุดของโลก ครองตลาด 60% ส่งออก 276 ตันในปี 2023 ไปยังสหรัฐฯ และยุโรป

จีนปล่อยปลาสเตอร์เจียนกว่า 20,000 ตัวลงแม่น้ำแยงซี เพื่ออนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หลังออกกฎห้ามประมง 10 ปี โดยจีนยังเป็นผู้ผลิตคาเวียร์รายใหญ่ของโลก

ช่วงวันสงกรานต์ที่ผ่านมา ชาวจีนรวมตัวกันปล่อย ‘ปลาสเตอร์เจียน’ มากกว่า 20,000 ลงสู่แยงซี (แม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของจีน) ในเมืองอี๋ชาง มณฑลหูเป่ย (ทางตอนกลางของจีน) ภายใต้แนวคิด "ปล่อยปลาสเตอร์เจียนจีน พิทักษ์ความงามของแยงซี”

ในจำนวน 20,000 กว่าตัวนั้น แบ่งเป็นปลาสเตอร์เจียนจีน อายุ 6 เดือน จำนวน 23,000 ตัว และปลาสเตอร์เจียนจีนขนาดใหญ่ อายุ 3-16 ปี จำนวน 230 ตัว และปีก่อนหน้า จีนปล่อยปลาสเตอร์เจียนลงสู่แยงซีไปราว ๆ 200,000 ตัว

ทั้งนี้ ปลาสเตอร์เจียนจีน เป็นหนึ่งในสัตว์มีกระดูกสันหลังที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีชีวิตตั้งแต่เมื่อ 140 ล้านปีก่อน เป็นสัตว์คุ้มครองระดับ A ของจีน ปลาส่วนใหญ่ได้รับการอนุรักษ์ผ่านการผสมพันธุ์เทียม และปล่อยสู่ธรรมชาติ

Credit Xinhua

จีนถือว่าเอาจริงเอาจังเรื่องการวิจัยปลาสเตอร์เจียนเป็นอย่างมาก ละเอียดถึงขั้นว่าระบุว่าปลาสเตอร์เจียนที่นำมาปล่อย ต้องมีอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 14 ปี เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนปลาในธรรมชาติ เพื่อให้ปลาสเตอร์เจียนที่เพิ่งปล่อยออกมาสามารถเริ่มผสมพันธุ์ได้โดยเร็วที่สุด

เท่านั้นยังไม่พอ นักวิจัยจีนได้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวในปลาสเตอร์เจียนวัยเจริญพันธุ์ เพื่อศึกษาผลกระทบของสิ่งแวดล้อมต่อการอยู่รอดของปลา เพื่อหาแนวทางป้องกันในอนาคตด้วย

Credit Xinhua

 

จีนคือผู้ส่งออกคาร์เวียร์รายใหญ่ที่สุดของโลก

‘คาเวียร์’ อาหารลักซ์ชูร์รี่ที่ใคร ๆ ก็อยากจะลิ้มลอง เดิมที แหล่งอาศัยหลักของปลาสเตอร์เจียนอยู่ที่ทะเลแคสเปียน แต่ปัจจุบันกำลังเจอปัญหาปลาสเตอร์เจียนใกล้สูญพันธุ์เพราะจับในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้ฟาร์มเลี้ยงสเตอร์เจียนในจีนเป็นที่ต้องการไปโดยปริยาย

จีนปล่อย “ปลาสเตอร์เจียน” ลงสู่แม่น้ำแยงซี จำนวนกว่า 20,000 ตัว

ว่ากันว่าตอนนี้จีนกลายเป็นตลาดผลิตคาเวียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยถือครองสัดส่วนอยู่มากถึง 60% ของโลก โดยตลาดหลักที่นำเข้าคาเวียร์จีน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และประเทศในสหภาพยุโรป (EU) โดยในปี 2023 จีนส่งออกคาเวียร์ไปทั่วโลกเป็นปริมาณกว่า 276 ตัน เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าของปริมาณการส่งออกในปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 140 ตัน

ทำไมจีนห้ามทำประมง 10 ปี ในแม่น้ำแยงซี  ?

มาตรการห้ามทําประมงเป็นเวลา 10 ปี ในลุ่มแม่น้ำแยงซี เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2021 ผลคือมีจำนวนสัตว์น้ำหลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  โดยพบพันธุ์ปลาในแม่น้ำแยงซี 193 สายพันธุ์ เพิ่มขึ้นจากปีค.ศ. 2020 จำนวน 25 สายพันธุ์

มาตรการดังกล่าวทำให้ชาวประมงไม่น้อยสูญเสียอาชีพ ทั้งนี้ จีนได้ออกมาตรการช่วยเหลือชาวประมงริมฝั่งแม่น้ำแยงซี 231,000 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการห้ามทำประมง  โดยรัฐบาลกลางและทางการท้องถิ่นจัดสรรเงินช่วยเหลือชาวประมงที่เข้าร่วมโครงการกว่า 27,000 ล้านหยวน หรือกว่า  135,000 ล้านบาท

 

ที่มา: Xinhua

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related