งานวิจัยใหม่ล่าสุด เผยว่า มลภาวะทางเสียงจากจราจรบนเกาะกาลาปากอส ทำให้นกจาบเหลืองก้าวร้าวขึ้นและส่งเสียงแข่งกับเสียงรบกวน
ผลการศึกษาใหม่ของนักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาแองเกลียรัสกิน (Anglia Ruskin) ของอังกฤษ ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Animal Behaviour พบว่า การที่เกาะกาลาปากอสมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับเสียงจราจร ทำให้หมู่มวลนก เริ่มแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ซึ่งผู้วิจัยสันนิษฐานว่านี่เป็นผลพวงจากมลพิษทางเสียง (noise pollution)
เกาะกาลาปากอส (Galapagos) ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งประเทศเอกวาดอร์ 965 กิโลเมตร ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเกาะที่มีความหลากหลานทางธรรมชาติสูง และเป็นแหล่งรวมพันธุ์พืช สัตว์จำนวนมากที่ไม่พบที่ไหนในโลกอีกแล้ว ทั้งยังเคยเป็นสุดยอดห้องแล็บธรรมชาติวิทยาของ ‘ชาร์ลส์ ดาร์วิน’ อีกด้วย
แต่ปัญหาคือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกากาลาปากอส มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ในปี 2022 มีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ราว 267,688 ราย และเพิ่มเป็น 330,000 รายในปี 2023 ทั้ง ๆ ที่ในอดีต ในปี 1959 ที่มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติกาลาปากอส เกาะแห่งนี้มีพื้นที่ให้มนุษย์อาศัยอยู่เพียง 3% เท่านั้น
ผลพวงจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การศึกษาชิ้นนี้เสนอว่านกจาบเหลือง หรือ Setophaga petechia aureola เริ่มส่งเสียงดังแข่งกับเสียงจากยานพาหนะ เพื่อปกป้องอาณาเขตของมัน โดยสังเกตจากการที่ทีมงานทดลองติดตั้งลำโพงไว้ใกล้ ๆ ริมถนน แล้วเปิดเสียงยานพาหนะวิ่งไปมา
ผลพบว่า นกจาบเหลืองมักบินมาใกล้ ๆ ลำโพง แล้วส่งเสียงแข่งขันกับเสียงจากลำโพง และเมื่อเสียงดับลง นกจาบเหลืองก็ไม่มีท่าทีก้าวร้าวแบบตอนที่มีเสียงมารบกวน
“นกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมถนนบนเกาะทั้งสองแห่งและมีประสบการณ์กับเสียงจราจรเป็นประจำอาจเรียนรู้ที่จะเพิ่มความก้าวร้าวทางกายภาพเมื่อการบุกรุกพื้นที่มาพร้อมกับเสียงจราจร” Caglar Akcay ผู้เขียนการศึกษาชิ้นนี้ กล่าว
“นอกจากนี้ เรายังพบหลักฐานบางอย่างที่บ่งชี้ว่านกพยายามรับมือกับเสียงโดยปรับเสียงร้องของมัน โดยนกจาบเหลืองมักจะเพิ่มความถี่เสียงร้อง เพื่อช่วยให้ได้ยินเสียงพวกพ้องของมันเหนือเสียงรบกวนจากจราจร” อักเคย์กล่าว
ที่มา: popsci
ข่าวที่เกี่ยวข้อง