SHORT CUT
“กลิ่นมันแรงมาก เราต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา และพวกเราไม่ได้ใช้ชีวิตนอกบ้านกันเลย ทำได้แค่อยู่บ้านเฉย ๆ” เสียงสะท้อนจากชาวบ้านบนเกาะภูเก็ต เมื่อคนเยอะ ขยะก็มากตาม ผลกระทบตกอยู่ที่ชาวบ้าน
ในมุมหนึ่ง จังหวัดภูเก็ตนั้นมีธรรมชาติที่สวยงาม สายน้ำธารไหล แดดลามเลียผิว บรรยากาศเหมาะแก่การพักผ่อน ปีที่ผ่านมา ดึงดูดนักท่องเที่ยว 37 ล้านคน กวาดรายได้กว่า 1.67 ล้านล้านบาท แต่อีกมุมหนึ่ง ภูเก็ตกำลังเผชิญกับวิกฤต ‘ขยะ’
สำนักข่าว Reuters ทำสกู๊ป “Thai resort isand Phuket grapples with growing garbage crisis” ระบุว่า ในแต่ละวัน มีรถบรรทุกขนขยะไปยังหลุมฝังกลบขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของขยะมากกว่า 1,200 ตันในแต่ละวัน
เรื่องที่เรารับทราบกันมานานก็คือ ภูเก็ตสามารถเผาขยะได้เพียง 700 ตัน ที่เหลือนำไปฝังกลบ หลังจากนั้น จังหวัดภูเก็ตได้มีการร่วมมือกับเอกชนเพื่อผลักดันโครงการจัดการขยะ อาทิ โครงการกำจัดขยะชุมชนอย่างยั่งยืนของบริษัท คาริน่า อพอลโล จำกัด และบริษัท เอนเนอร์จี แอบโซลูท คอปอเรชั่น จำกัด เป็นต้น
“กลิ่นมันแรงมาก เราต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา และพวกเราไม่ได้ใช้ชีวิตนอกบ้านกันเลย ทำได้แค่อยู่บ้านเฉย ๆ” หนึ่งในชาวบ้านบนเกาะภูเก็ตให้สัมภาษณ์กับ Reuters
ชาวบ้านคนเดิม เล่าอีกว่า เพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นชวนคลื่นไส้ (กลิ่นขยะ) เธอต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ และเครื่องฟอกอากาศไว้ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ค่าไฟของเธอเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
ทางฟากของ นายศุภโชค ละอองเพชร รองนายกเทศมนตรีเมืองภูเก็ต เปิดเผยว่า การเติบโตของภูเก็ตนั้นรวดเร็วกว่าที่ควรจะเป็นมาก โดยชี้ให้เห็นว่าหลังผ่านพ้นยุคโควิด-19 การท่องเที่ยวบนเกาะเฟื่องฟูมาก และภายในสิ้นปีนี้ ภูเก็ตอาจสร้างขยะได้มากถึง 1,400 ตันต่อวัน
ทั้งนี้ สำนักข่าว Reuters ได้ทิ้งท้ายว่า ทางการกำลังผลักดันแผนลดปริมาณขยะลง 15% ภายในระยะเวลา 6 เดือน ด้วยการขยายพื้นที่ฝังกลบ สร้างเตาเผาขยะ โรงไฟฟ้าขยะ เพื่อให้ภูเก็ตนั้นเป็นจุดหมายปลายทางด้านของการท่องเที่ยวยั่งยืน อันเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในหมู่นักแสวงความงามในธรรมชาติ
ที่มา: Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง