SHORT CUT
อ่างฮาลองเบย์ของเวียดนาม เสี่ยงถูกถอดออกจากการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติจากยูเนสโก เนื่องจากเริ่มมีโครงการก่อสร้างมากเกินไป เสี่ยงกระทบธรรมชาติและอัตลักษณ์
การเป็นมรดกโลกส่งผลต่อการตัดสินใจไปท่องเที่ยวของคุณหรือไม่?
เวียดนามกำลังเผชิญหน้ากับการประเมินความเสี่ยงจากโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอ่าวฮาลอง หรือ ฮาลองเบย์ (Ha Long Bay) โดย UNESCO เมื่อโครงการก่อสร้างเริ่มมีมากเกินไปในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ อาจทำให้สภาพแวดล้อมอันสวยงามถูกทำลาย จนนำไปสู่การถอดถอนออกจากมรดกโลก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ยูเนสโก (UNESCO) องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กำลังจะจัดทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าไปประเมินความเสี่ยงของการอนุรักษ์อ่างฮาลอง แหล่งท่องเที่ยวสุดฮิตของเวียดนาม เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับโครงการพัฒนา หรือการก่อสร้างจำนวนมากที่อาจคุกคามสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
อ่าวหะล็อง, อ่าวฮาลอง หรือฮาลองเบย์ (Ha Long Bay) แล้วแต่คนจะเรียก มีความหมายว่า “อ่าวแห่งมังกรผู้ดำดิ่ง” เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิตของประเทศเวียดนาม อยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ใกล้ชายแดนประเทศจีน มีพื้นที่กว้างขวาง 1,500 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยเกาะหินปูนมากมายกว่า 1,969 เกาะ
ฮาลองเบย์ ถูกยกย่องเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติจากยูเนสโก เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ครั้งเมื่อมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 18 ที่จัดขึ้น ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย ซึ่งก็ได้มีการเฉลิมฉลองการครบรอบ 30 แห่งการเป็นมรดกโลก เมื่อไม่นานมานี้
อนึ่ง ในเนื้อหาจากรอยเตอร์ระบุว่า การแต่งตั้งจากยูเนสโก ส่งผลให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนทุกปี เพิ่มรายได้การท่องเที่ยวให้เวียดนามมหาศาล
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ยูเนสโกระบุว่า เริ่มมีความกังวลมาสักพักแล้ว ถึงโครงการพัฒนาหลายโครงการสำหรับการท่องเที่ยวใหม่และพื้นที่อยู่อาศัยในเมืองตามแนวชายฝั่ง ที่มีการอนุมัติและดำเนินการ โดยไม่มีการประเมินผลกระทบอย่างเหมาะสมและรอบด้าน
จึงทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าการประเมินนี้อาจทำให้อ่าวฮาลองถูกคว่ำบาตรหรือแม้กระทั่งร้ายแรงสุดคือการถอดถอนออกจากรายชื่อมรดกของยูเนสโก นำไปสู่ผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวของเวียดนาม ซึ่งอ่าวฮาลองเบย์คิดเป็นร้อนละ 8 ของ GDP ประเทศในปีที่แล้ว
ทางยูเนสโกจึงขอให้คณะกรรมการร้องขอให้มีการแก้ไขมาตรการเพื่อเสริมสร้างการคุ้มครองสถานที่นั้น ซึ่งเห็นสมควรให้เริ่มมาตรการดังกล่าวถูกนำไปใช้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
นูโน ริเบโร (Nuno Ribeiro) อาจารย์อาวุโสด้านการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัย RMIT เวียดนาม แสดงความเห็นว่า “การก่อสร้างที่มากเกินไป อาจคุกคามความงามทางธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความสมดุลทางนิเวศวิทยาของอ่าว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นคุณลักษณะที่ทำให้อ่าวแห่งนี้ได้รับการจดทะเบียนจากยูเนสโก ดังนั้น เราไม่ควรละเลยการคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นและต้องเร่งหามาตรการเพื่อแก้ไข”
สุดท้าย ทางสำนักข่าวรอยเตอร์ได้มีการส่งคำขอ ขอความคิดเห็นจากกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงต่างประเทศของเวียดนาม รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นระดับจังหวัดที่ดูแลรับผิดชอบอ่าวฮาลองเบย์ไป แต่ยังคงไร้การตอบรับ
ที่มาข้อมูล