SHORT CUT
'สาดน้ำปีใหม่' ไม่ได้มีแค่ไทยแลนด์และกัมพูชา แต่เป็นวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แล้วคุณคิดเห็นอย่างไรเมื่อเพื่อนบ้านเตรียมเสนอ 'สงกรานต์' เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
จากกรณีที่นายฮุนมาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศแผนเสนอรายชื่อประเพณี ’สงกรานต์กัมพูชา‘ เป็นหนึ่งในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในช่วงปี 2025 ต่อยูเนสโก้ และคาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนในปี 2026 ขณะที่ประเพณี ‘สงกรานต์ไทย’ เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา จึงอาจทำให้หลายคนสงสัยว่าแท้จริงแล้ว ‘สงกรานต์’ เป็นของใครกันแน่ แล้ว ‘สงกรานต์ไทย’ กับ ‘สงกรานต์กัมพูชา’ ต่างกันตรงไหน
‘สงกรานต์’ เป็นคำสันสกฤตหมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเกี่ยวกับการย้ายจักรราศีในช่วงเดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ เปลี่ยนจากฤดูหนาวเป็นฤดูร้อน ที่เชื่อว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดของปี เป็นประเพณีแพร่หลายในเอเชีย โดยเฉพาะไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ จัดในช่วงใกล้เคียงกัน และมีลักษณะประเพณีที่คล้ายคลึงกัน เป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่ ทำบุญ เป็นช่วงที่จะใช้ชีวิตกับครอบครัว คาดว่าได้รับอิทธิพลจากเทศกาลโฮลี สาดฝุ่นสีใส่กันในประเทศอินเดีย
‘ประเทศไทย’ จัดวันสงกรานต์วันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี มีการสาดน้ำ ประแป้ง สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ ขนทรายเข้าวัด
‘ประเทศลาว' จัดวันที่ 14-16 เมษายน ทำความสะอาดบ้านเรือน รวมญาติ บายศรีสู่ขวัญ สรงน้ำพระ
'ประเทศเมียนมา' จัดวันที่ 12-16 เมษายน ประพรมน้ำ เข้าวัดทำบุญ สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว
'ประเทศกัมพูชา’ จัดวันที่ 14-16 เมษายน มีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ขนทรายเข้าวัด ทำความสะอาดบ้านเรือน รวมญาติวันครอบครัวด้วย
นอกจากนี้ยังพบประเพณีในรูปแบบคล้ายกันในพื้นที่เมืองสิบสองปันนา มลฑลยูนนาน ประเทศจีน และสงกรานต์ของชาวไทลื้อ ชนเผ่าไทในเวียดนามอีกด้วย
ดังนั้นแม้ ‘สงกรานต์ไทย' จะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกไปแล้ว แต่พบว่า ‘สงกรานต์’ ยังเป็นวัฒนธรรมร่วมกันของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ด้วย ที่ต่างมีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองวันตรุษขึ้นปีใหม่ เป็นช่วงเวลาของครอบครัวและการทำกิจกรรมที่เป็นสิริมงคล ในช่วงที่อากาศร้อนมากที่สุดของปี