นักวิทยาศาสตร์ที่นำโดยองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ เปิดเผยการค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ 27 ชนิด รวมถึง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและผีเสื้อสายพันธุ์ใหม่หลายชนิด ระหว่างการสำรวจพื้นที่ป่าแอมะซอนในเปรู
นักวิจัยในภูมิภาคอัลโต มาโย (Alto Mayo) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเปรู ค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ 27 ชนิด รวมถึง หนูที่อาศัยอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ ซาลาแมนเดอร์ที่ปีนต้นไม้ได้และปลาที่ส่วนปลายของหัวมีลักษณะเป็นก้อนกลมหน้าตาแปลกประหลาดคล้ายปลาน้ำลึก
ในระหว่างการสำรวจทั่วพื้นที่ป่าฝนของผืนป่าแอมะซอนเป็นระยะเวลา 38 วัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บันทึกสัตว์ป่า และพืชได้กว่า 2,000 ชนิด
การค้นพบดังกล่าว สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่งให้กับนักวิทยาศาสตร์ เมื่อพิจารณาจากความหนาแน่นสูงของประชาชนในพื้นที่ รวมถึง แรงกดดันที่สำคัญจากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและการทำเกษตรกรรม
ดร.ทรอนด์ ลาร์เซน (Trond Larsen) ผู้อำนวยการอาวุโสด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวิทยาศาสตร์ระบบนิเวศของศูนย์วิทยาศาสตร์มัวร์ (Moore Center for Science) องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ ซึ่งเป็นผู้นำการสำรวจ เปิดเผยว่า เป็นการสำรวจอันน่าตื่นเต้นมาก เนื่องจากภูมิภาคอัลโตมาโย เป็นที่อยู่ของประชากร 280,000 คน
และมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการเปลี่ยนแปลงในการใช้ที่ดินและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ทำให้ตนเองรู้สึกประหลาดใจมากที่พบว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึง สายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่หายากและถูกคุกคามจำนวนมาก ซึ่งหลายสายพันธุ์อาจไม่พบเห็นในพื้นที่อื่นได้อีก
สำหรับสัตว์สายพันธุ์ใหม่ ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 4 ชนิด ได้แก่ หนูที่มีขนเป็นหนามแหลม ค้างคาวผลไม้หางสั้น กระรอกแคระและหนูที่อาศัยอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ โดยดร.ลาร์เซน ระบุว่า การค้นพบหนูครึ่งบกครึ่งน้ำสายพันธุ์ใหม่นั้น “น่าตกใจและน่าตื่นเต้น”
เนื่องจากหนูพันธุ์ใหม่นี้อยู่ในกลุ่มของสัตว์ฟันแทะที่กินเนื้อเป็นอาหารและอาศัยอยู่ทั้งบนบกและในน้ำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่หายากมากและเก็บข้อมูลตัวอย่างได้ยาก ทำให้หนูชนิดนี้มีสถานะที่เกือบจะเป็นตำนานในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ทีมนักวิจัยพบหนูครึ่งบกครึ่งน้ำตัวนี้ในพื้นที่ป่าพรุที่ถูกคุกคามจากการบุกรุกทำการเกษตรและหนูเหล่านี้อาจไม่มีที่อยู่อาศัยอยู่อื่นอีก
ส่วนกระรอกแคระที่มีความยาวประมาณ 14 เซนติเมตรและเคลื่อนไหวรวดเร็ว ทำให้ยากต่อการพบเห็นในป่าฝนที่ต้นไม้ขึ้นหนาแน่น นอกจากนี้ยังมีซาลาแมนเดอร์ที่อาศัยอยู่บนต้นไม้สายพันธุ์ใหม่ โดยซาลาแมนเดอร์สายพันธุ์นี้มีขาเล็กสั้น และมีลวดลายสีน้ำตาลเป็นจุด ๆ ปีนอยู่บนต้นไม้ที่ระดับความสูงเท่าหน้าอกในพื้นที่ป่าทราย
แต่การค้นพบที่น่าสนใจที่สุดคือ ปลาที่บนหัวมีลักษณะเป็นก้อนกลมหน้าตาแปลกประหลาดคล้ายปลาน้ำลึก โดยปลาสายพันธุ์ใหม่นี้มีลำตัวเหมือนปลาดุก แต่มีก้อนใหญ่ ๆ ที่บริเวณปลายหัว
ซึ่งดร.ลาร์เซน เปิดเผยว่า ก้อนกลมดังกล่าวยังเป็นปริศนา แต่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับอวัยวะรับสัมผัสในหัว หรืออาจช่วยเป็นส่วนควบคุมการลอยตัว เป็นแหล่งสำรองไขมันหรือเป็นเครื่องมือช่วยในการหาอาหาร
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังพบปลาสายพันธุ์ใหม่อีก 7 ชนิด พร้อมด้วย กบปากแคบสายพันธุ์ใหม่ ผีเสื้อสายพันธุ์ใหม่ 10 ชนิด และด้วงมูลสัตว์ใหม่ 2 สายพันธุ์ ยังไม่รวมถึงสัตว์อีก 48 สายพันธุ์ที่อาจเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่ และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการวิเคราะห์ เพื่อยืนยันว่าเป็นสัตว์ที่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน
คณะสำรวจยังพบสัตว์ที่ถูกคุกคาม จำนวน 49 ชนิดจากบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้แก่ ลิงที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง 2 ชนิด คือ ลิงขนหางเหลืองเปรูและลิงซานมาร์ตินติติ ตลอดจน นกที่ใกล้สูญพันธุ์อีก 2 ชนิด คือ นกหัวขวานจิ๋วอกลาย (Speckle-chested piculet) และนกเค้าหนวดยาว (Long-whiskered owlet) รวมถึง กบฮาร์เลควิน (Harlequin frog) ที่ใกล้สูญพันธุ์
การสำรวจนี้ดำเนินการในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2022 ด้วยการใช้กล้องดักถ่ายสัตว์ เซ็นเซอร์ตรวจจับเสียงชีวภาพ และเทคโนโลยีการตรวจหาร่องรอยทางดีเอ็นเอของสัตว์ที่หลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือ eDNA ซึ่งรวบรวมจากแม่น้ำและแหล่งน้ำอื่น ๆ
ทีมนักวิทยาศาสตร์ 13 คน ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ชาวเปรูจาก Global Earth และผู้ช่วยจาก Feriaam ซึ่งเป็นสมาชิกสหพันธ์ของชุมชนพื้นเมืองอวาจุน (Awajun) ชุมชนพื้นที่ในภูมิภาคอัลโตมาโย โดยจากจำนวนสัตว์ทั้งหมด 2,046 สายพันธุ์ที่บันทึกไว้ มีอย่างน้อย 34 สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคอัลโตมาโยหรือภูมิภาคซานมาร์ติน
อย่างไรก็ตาม แม้นักวิทยาศาสต์จะไม่เคยพบเห็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่เหล่านี้มาก่อน แต่มีหลายชนิด ซึ่งเป็นที่รู้จักของชุมชนพื้นเมืองอยู่แล้ว การค้นพบนี้เน้นย้ำถึงความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอะแมซอน ซึ่งนักวิจัยหวังว่าการสำรวจครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนความพยายามในการอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึง แผนการสร้างเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองในท้องถิ่น
ที่มา: The Guardian, Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง