svasdssvasds

ครั้งแรกของโลก 'คลื่น’ ในบราซิลได้รับการรับรองสถานะเท่ากับ บุคคล ตามกฎหมาย

ครั้งแรกของโลก 'คลื่น’ ในบราซิลได้รับการรับรองสถานะเท่ากับ บุคคล ตามกฎหมาย

เมื่อเดือนมิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา สภาเทศบาลเมืองลินฮาเรส ประเทศบราซิลได้ออกกฎหมายรับรองให้ ‘คลื่น’ บริเวณปากแม่น้ำริโอ โดเช (Rio Doce) มีสถานะเป็นบุคคล ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่บรรจบกับมหาสมุทรแอตแลนติก โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 เป็นต้นไป

SHORT CUT

  • มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา สภาเทศบาลเมืองลินฮาเรส ประเทศบราซิลได้ออกกฎหมายรับรองให้ ‘คลื่น’ บริเวณปากแม่น้ำริโอ โดเช (Rio Doce) มีสถานะเป็นบุคคล
  • คลื่นบริเวณปากแม่น้ำริโอ โดเชถูกรบกวนคือ เขื่อน Mariana พังทลาย เดิมทีเขื่อนแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อกักเก็บขยะจากเหมืองแร่เหล็กที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
  • ขืนปล่อยไว้แบบนี้ อีกไม่นานคลื่นปากแม่น้ำริโอ โดเชคงอาจสิ้นชื่อ ดังนั้น วิธีการรับรองสิทธิ และสถานะบุคคลให้กับคลื่นอาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ขึ้นอีก

เมื่อเดือนมิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา สภาเทศบาลเมืองลินฮาเรส ประเทศบราซิลได้ออกกฎหมายรับรองให้ ‘คลื่น’ บริเวณปากแม่น้ำริโอ โดเช (Rio Doce) มีสถานะเป็นบุคคล ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่บรรจบกับมหาสมุทรแอตแลนติก โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 เป็นต้นไป

เมืองลินฮาเรส ประเทศบราซิล จะต้องสมดุลนิเวศวิทยาของริ้วคลื่น และสายน้ำ ทั้งทางกายภาพ และทางเคมี หรือกล่าวให้เข้าใจแบบรวดรัดคือ คลื่นต้องได้รับการปกป้องจากการรบกวนของกิจกรรมมนุษย์

ทำไมต้องรับรองสิทธิของ ‘คลื่น’ ?

ต้องเข้าใจก่อนว่า สำหรับเมืองลินฮาเรส คลื่นมิเพียงแค่สายน้ำที่ไหลผ่านไปอย่างไร้ความหมาย แต่คลื่นของที่นี่เป็นที่เล่าขานกันว่าโด่งดังระดับโลก และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก แต่เมื่อ 8 ปีก่อน การกระทำของมนุษย์บางอย่างกลับทำให้คลื่นเหล่านี้ค่อย ๆ เสียหาย และสูญหาย

บราซิลรับรองคลื่นเท่าบุคคล ตามกฎหมาย Credit AFP

Hauley Silva Valim นักเล่นเซิร์ฟแห่งเมืองลินฮาเรส เปิดเผยว่า คุณภาพน้ำบริเวณดังกล่าวปนเปื้อนไปด้วยน้ำมันที่รั่วไหลมาจากโรงงานอุตสาหกรรม การขยายตัวของการทำเกษตรกรรม การพัฒนาท่าเรือ และรวมถึงมลพิษจากขยะพลาสติก ที่ไม่ได้รับการจัดการที่ดีจนไหลลงสู่แม่น้ำ

อีกหนึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้คลื่นบริเวณปากแม่น้ำริโอ โดเชถูกรบกวนคือ เขื่อน Mariana พังทลาย เดิมทีเขื่อนแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อกักเก็บขยะจากเหมืองแร่เหล็กที่อยู่บริเวณใกล้เคียง แต่เมื่อมีขยะเฟื่องเกินไป เขื่อนก็เป็นอันพังทลาย พร้อมกับปล่อยมลพิษไหลลงสู่แม่น้ำริโอ โดเช เดินหน้าทำลายหมู่บ้าน และคร่าชีวิตผู้คนไป 19 ราย

บราซิลรับรองคลื่นเท่าบุคคล ตามกฎหมาย

เมื่อมลพิษ และกองขยะจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำ ส่งผลให้การไหลของแม่น้ำมีความเร็วลดลง จนกระทั่งในที่สุด จากริ้วคลื่นสูงที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ก็กลายเป็นคลื่นอ่อน ๆ ที่พัดกระทบหน้าขา มิเพียงแค่คลื่นที่ได้รับผลกระทบ เว็บไซต์ IFL Science ยังระบุอีกว่า ตะกอนพิษสีน้ำตาลในแหล่งน้ำ ปนเปื้อนพืช ปลา ในรัศมีหลายกิโลเมตรจากปากแม่น้ำ

เมื่อเจอปัญหาดังนี้ ทางเมืองก็คิดว่าขืนปล่อยไว้แบบนี้ อีกไม่นานคลื่นปากแม่น้ำริโอ โดเชคงอาจสิ้นชื่อ ดังนั้น วิธีการรับรองสิทธิ และสถานะบุคคลให้กับคลื่นอาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ หรือกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอีก หรืออย่างน้อยที่สุด ต้องมีคนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

บราซิลรับรองคลื่นเท่าบุคคล ตามกฎหมาย Credit AFP

ในเมื่อธรรมชาติไม่สามารถส่งเสียงได้ และไม่สามารถยกนิ้วชี้ได้ว่าใครคือผู้กระทำผิด ทางภาครัฐจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมของสภาเมืองลินฮาเรส ชุมชนพื้นเมือง และชุมชนนักเล่นเซิร์ฟ

จากธรรมชาติ สู่ บุคคล เคยเกิดขึ้นแล้ว

อันที่จริงเรื่องราวทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หนแรกเลยคือเมื่อนิวซีแลนด์รับรองให้แม่น้ำวังกานุย (Whanganui River) ได้รับสิทธิทางกฎหมายเท่ากับมนุษย์ ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการมอบสิทธิบุคคลให้กับธรรมชาติ โดยมีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

จากนั้นประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มประกาศรับรองสิทธิบุคคลให้กับธรรมชาติตามมาอีกเป็นพรวน อาทิ แม่น้ำแม็กพายในแคนาดา แม่น้ำเคลเมทในสหรัฐฯ ซึ่งหากจัดประเภทอย่างละเอียด ที่ยกตัวอย่างมานี้ถือเป็นการมอบสิทธิให้กับแหล่งน้ำในความหมายรวม ๆ แต่ในกรณีของบราซิลครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่รับรองสิทธิบุคคลให้กับ ‘คลื่น’

 

 

ที่มา: Yale, surfsimply

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related