นักวิทย์ฯ ติดแท็กไว้กับฉลามที่ตั้งท้องเพื่อดูการเคลื่อนไหว และที่อยู่อาศัยของสัตว์ใต้ทะเลลึก ปรากฏว่าฉลามตัวนี้ถูกเขมือบไปแล้วโดยสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่า...
เหนือผู้ล่ายังมีผู้ล่าที่โหดเหี้ยมกว่าอยู่เสมอ ย้อนกลับไปในปี 2020 นักวิทยาศาสตร์ได้ติดแท็กไว้กับฉลามพอร์บีเกิล (porbeagle shark) ที่กำลังตั้งท้อง เพื่อจุดประสงค์เรียนรู้แหล่งที่อยู่อาศัยของฉลาม แต่ใครจะคิดว่าแท็กดังกล่าวเปิดโปงวิธีการล่าเหยื่อของฉลาม
Porbeagle shark พบได้ทั่วไปในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ลำตัวมีความยาวได้ถึง 3.7 เมตร และอาจมีน้ำหนักได้ถึง 230 กิโลกรัม อายุเฉลี่ยของฉลามสายพันธุ์นี้คือ 30-65 ปี
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้ติดแท็กไว้กับฉลามจำนวนหลายสิบตัวเพื่อติดตามดูเส้นทางการเคลื่อนที่ รวมถึงที่อยู่อาศัยใต้ท้องทะเลลึก เพื่อนำข้อมูลในส่วนนี้ไปประยุกต์หาวิธีอนุรักษ์ประชากรฉลาม
จนกระทั่งในปี 2021 นักวิทยาศาสตร์ก็พบความจริงว่ามีฉลามตัวใหญ่กว่ากินฉลามตัวนี้เข้าไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งมีการคาดการณ์ผู้ร้ายไว้สองสายพันธุ์นั่นคือฉลามขาวและฉลามมาโก และสายพันธุ์ที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสงสัยมากที่สุดคือฉลามขาว
ทั้งนี้ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของ Marine Stewardship Council ระบุว่า ฉลามขาวเป็นสัตว์ที่ชอบล่าฉลามด้วยกันเอง ดังนั้น ฉลามพอร์บีเกิลที่ถูกกินในครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องปรกติ หากเราสวมแว่นของห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ เพียงแต่ว่าฉลามพอร์บีเกิลตัวนี้ดันตั้งท้องอยู่จึงหลีกเลี่ยงที่จะสงสารไม่ได้ก็เท่านั้น
SPRiNG อยากทิ้งท้ายไว้ด้วยข้อมุลชุดนี้ ปลาฉลามพอร์บีเกิล แม้จะไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไร แต่ถือเป็นสัตว์ที่อยู่ในความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรลดลงคือการทำประมงมากเกินไป (overfishing) แทนที่จะได้แหวกว่ายอยู่ในสายน้ำธารไหล แต่กลับต้องมีชะตากรรมอยู่ในอวนของการทำประมง
ที่มา: CNN
ข่าวที่เกี่ยวข้อง