SHORT CUT
งานวิจัยปัจจุบันยืนยันแล้วว่า ไมโครพลาสติกสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ ทำให้เกิดความกังวลว่า ไมโครพลาสติกจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไร?
ไมโครพลาสติกเป็นมลพิษจากขยะพลาสติก เป็นอันตรายที่สามารถมองเห็นได้และมองไม่เห็นก็ได้ และที่สำคัญที่สุดคือ มนุษย์ยังไม่สามารถล่วงรู้ได้อย่างแท้จริงว่ามันจะส่งผลเสียหรือเป็นอันตรายต่อมนุษย์มากน้อยเพียงใด
ในปัจจุบัน ไมโครพลาสติก สามารถพบได้ตั้งแต่สถานที่ที่ลึกที่สุดในโลก อย่างร่องลึกใต้มหาสมุทรมาเรียนา ไปจนถึงสถานที่ที่สูงที่สุด อย่างยอดเขาเอเวอเรสต์
การศึกษาในปัจจุบัน นอกจากนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบไมโครพลาสติกมากมายตามส่วนต่าง ๆ ของโลกแล้ว เรายังค้นพบอีกว่า ไมโครพลาสติกสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ด้วย ซึ่งสปริงนิวส์ ในคอลัมน์ Keep The World ได้รวบรวมมาให้ ว่าเราค้นพบไมโครพลาสติกส่วนไหนในร่างกายมนุษย์บ้างแล้ว เข้ามาได้อย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราหรือไม่?
ไมโครพลาสติกคือ ชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กมีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร เกิดจากการแตกหักของพลาสติกทั่วไปและเม็ดพลาสติกในผลิตภัณฑ์ขัดผิว
การศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ล่าสุดในวารสาร JAMA Network ปี 2024 เปิดเผยว่า นักวิจัยได้วิเคราะห์สมองของศพจำนวน 15 ศพ เป็นชาย 12 รายและหญิง 3 ราย ระหว่างอายุ 33-100 ปี ผลพบว่า มีไมโครพลาสติกในเนื้อเยื่อสมองเหนือจมูกหรือเนื้อเยื่อของหลอดดมกลิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองที่ช่วยประมวลผลกลิ่นให้กับมนุษย์ และมีความเป็นไปได้ที่ไมโครพลาสติกจะสามารถเดินทางไปยังส่วนอื่น ๆ ของสมอง
การค้นพบนี้ถูกตีพิมพ์เมื่อปี 2022 ผ่านวารสาร Environment International โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบอนุภาคของไมโครพลาสติกในตัวอย่างเลือดจากอาสาสมัครวัยผู้ใหญ่สุขภาพดีในประเทศเนเธอร์แลนด์จำนวน 22 คน ผลตรวจพบว่าอาสาสมัคร 17 คนมีอนุภาคไมโครพลาสติกในเลือด
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ลง Science of The Total Environment ปี 2022 อธิบายว่า มีการค้นพบไมโครพลาสติกลึกลงไปในเนื้อเยื่อปอดของมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นครั้งแรก โดยได้ทำการทดลองในปอดผู้ป่วย 13 ตัวอย่าง และผลคือ 11 ตัวอย่างปอด พบไมโครพลาสติกประเภท PET
นักวิทย์ได้เผยบทความลงวารสาร National Library of Medicine ปี 2022 เมื่อปี 2022 โดยเผยว่า ได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างนมแม่จากกลุ่มตัวอย่างคุณแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง จำนวน 34 คนในกรุงโรม เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์หลังจากคลอด พบว่า มีไมโครพลาสติกปนอยู่ในตัวอย่าง 26 คน หรือคิดเป็น 76%
ซึ่งในช่วงระหว่างการเก็บตัวอย่างงานวิจัยมีการจดบันทึกอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางสุขอนามัยส่วนบุคลที่ผลิตมาจากพลาสติกเช่นเดียวกันแต่ไม่พบความเชื่อมโยงกับไมโครพลาสติกที่ตรวจพบในน้ำนมแม่ จึงทำให้ตระหนักได้ว่ามีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราอย่างแพร่หลายแบบไม่ต้องสัมผัสก็มีความเป็นไปได้
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Toxicological Science ระบุว่า พบไมโครพลาสติกแทรกอยู่ในเนื้อเยื่ออัณฑะทั้งของมนุษย์และสุนัข โดยประเภทพลาสติกที่พบคือ โพลีเอทิลีน ที่มักใช้ทำถุงหรือขวดพลาสติก และพลาสติกชนิด PVC ที่ใช้ทำท่อน้ำพลาสติก โดยคาดว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงไปสู่ภาวะปัญหาการเจริญพันธุ์ของบุรุษเพศได้ เช่น รบกวนการผลิตอสุจิและการทำงานของต่อมไร้ท่อ
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental International ปี 2021 เผยว่า ทีมนักวิจัยจาก Raman Microspectroscopy ได้ทำการวิเคราะห์รกของสตรี 6 คนที่ยินยอมให้ตั้งครรภ์ทางสรีรวิทยาเพื่อประเมินการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในรก ผลพบว่า พบชิ้นส่วนไมโครพลาสติก 12 ชิ้น ที่มีขนาดตั้งแต่ 5-10 ไมโครเมตร ในรก 4 ชิ้นหรือแม่ 4 คน (พบ ไมโครพลาสติก 5 ชิ้นของทารกในครรภ์ 4 ชิ้นในฝั่งมารดา และ 3 ชิ้นในเยื่อหุ้มเซลล์น้ำคร่ำ)
อย่างที่กล่าวไป ไมโครพลาสติกอยู่ได้ทุกที่ นั่นหมายความว่า สิ่งที่มนุษย์สัมผัสได้ ก็สามารถเป็นทางผ่านของไมโครพลาสติกกับร่างกายมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน จากการรวบรวมการศึกษาจากงานวิจัยต่าง ๆ ไมโครพลาสติกสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ทั้ง รับประทาน และการสูดดม
งานวิจัยหนึ่งได้ทำการเก็บตัวอย่างอากาศในกรุงปารีส เพื่อบันทึกระดับของไมโครพลาสติกทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคาร ผลพบว่า มีความเข้มข้นของไมโครพลาสติกตั้งแต่ 3-15 อนุภาคต่อลูกบาศก์เมตรของอากาศ ซึ่งอยู่ในระดับที่มนุษย์สามารถสูดหายใจเอาไมโครพลาสติกเข้าไปได้ รวมไปถึงละอองจากเครื่องสำอาง
นักวิจัยจาก University of Catania ในอิตาลี ค้นพบเศษชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กในผักผลไม้บางชนิด เช่น แครอท ผักกาดหอม แอปเปิ้ลและลูกแพร์ โดยเฉลี่ยแล้ว ผักผลไม้เหล่านี้พบไมโครพลาสติกในปริมาณเฉลี่ยมากกว่า 100,000 ชิ้น ต่อผักผลไม้ 1 กรัมเลยทีเดียว
ไมโครพลาสติกเหล่านี้มีความสามารถในการแทรกซึมเข้าไปในรากของพืชผลต่างๆได้ จึงทำให้เป็นแหล่งสะสมไมโครพลาสติกจากน้ำและดินที่ปนเปื้อนอยู่แล้ว รวมถึงน้ำดื่มทั่วไปของมนุษย์ด้วย
นอกจากนี้ อาหารทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ที่สัมผัสกับขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกมหาสมุทรมากที่สุด ก็ค้นพบว่ามีไมโครพลาสติกมากมายปนเปื้อนอยู่ในร่างกายของพวกมันและทนทานจนกระทั่งถึงปากของเรา ไม่ว่าจะล้างให้สะอาดมากแค่ไหน
แม้ว่าผลวิจัยหลายชิ้นจะไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจน ว่าไมโครพลาสติกจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรในโลกของความเป็นจริง แต่ความกังวลของนักวิทยาศาสตร์คือไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์แน่ ๆ ไม่วันนี้ก็วันหน้า
ไมโครพลาสติกถือเป็นมลพิษทางอากาศรูปแบบหนึ่ง เมื่อถูกค้นพบในอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย มันก็อาจส่งผลกระทบต่อโรคหรืออาการที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะส่วนนั้น เช่น ปอด ไมโครพลาสติกอาจทำให้ปอดอักเสบ ระบบหายใจขัดข้องได้ ส่วนที่อ่อนไหวของร่างกายอย่างสมอง ก็เสี่ยงจะส่งผลต่อโรคอัลไซเมอร์ การเจริญพันธุ์ การพัฒนาการของสมอง น้ำนมแม่ที่ส่งไปยังลูกน้อย หากพบไมโครพลาสติก ก็อาจทำให้การเจริญเติบโตและภูมิคุ้มกันของเด็กมีปัญหาได้ หรือการพบในอัณฑ ก็ส่งผลต่อปริมาณอสุจิ ทำให้มีลูกยาก
ไม่เห็นผลในวันนี้ แต่ก็ต้องเตรียมรับมือในวันข้างหน้า หน้าที่ของนักวิจัยขณะนี้คือมองหาผลลัพธ์เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนมนุษย์เรา หากเป็นไปได้ก็ต้องหาวิธีที่เราจะใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้มลพิษแบบนี้มันเกิดขึ้นจนเป็นปัญหาที่เรายากจะแก้ไข