svasdssvasds

วุ่นไม่จบ! ชาวประมงยื่นฟ้องเอกชนหลายพันล้าน เซ่นปม “ปลาหมอคางดำ”

วุ่นไม่จบ!  ชาวประมงยื่นฟ้องเอกชนหลายพันล้าน เซ่นปม “ปลาหมอคางดำ”

กลุ่มชาวประมงเดือดร้อนปลาหมอคางดำยื่นฟ้องเเพ่ง เรียกค่าเสียหายเอกชน หลายพันล้านบาท ชดใช้นำเข้าปลาเอเลี่ยน ด้านสภาทนายยื่นขอดำเนินคดีเเบบกลุ่ม

SHORT CUT

  • ชาวประมงเดือดร้อนปลาหมอคางดำยื่นฟ้องเเพ่ง เรียกค่าเสียหายเอกชน หลายพันล้านบาท ชดใช้นำเข้าปลาเอเลี่ยน
  • ชาวประมง บอกว่า พวกตนได้รับผลกระทบ และถูกละเมิดสิทธิ์มานาน การประกอบอาชีพย่ำแย่ ขาดรายได้ มีหนี้สิน เพราะสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยง ทั้ง ปลา กุ้ง ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ซึ่งตอนนี้ในบ่อที่เลี้ยงมีแต่ปลาหมอคางดำ
  • สำหรับจํานวนค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเรียกร้อง แยกออกเป็น 2 กลุ่ม ทั้งกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  และ กลุ่มประมงพื้นบ้าน

กลุ่มชาวประมงเดือดร้อนปลาหมอคางดำยื่นฟ้องเเพ่ง เรียกค่าเสียหายเอกชน หลายพันล้านบาท ชดใช้นำเข้าปลาเอเลี่ยน ด้านสภาทนายยื่นขอดำเนินคดีเเบบกลุ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 5 ก.ย.ที่ศาลเเพ่งกรุงเทพใต้ นายปัญญา โตกทอง อายุ 66 ปี สมาชิกเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง พร้อมชาวบ้านกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา และประมงพื้นบ้าน ในเขตอําเภออัมพวา อําเภอบางคนที และอําเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ที่เป็นตัวแทนชาวบ้าน กว่า 1,400 คน ในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ เดินทางมายังศาลแพ่งกรุงเทพใต้ พร้อมด้วยคณะทำงานสิ่งแวดล้อมจากสภาทนายความฯ ยื่นฟ้องบริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษ และกรรมการบริหารรวม 9 คน ในคดีสิ่งแวดล้อม

โดยนายปัญญา บอกว่า พวกตนได้รับผลกระทบ และถูกละเมิดสิทธิ์มานาน การประกอบอาชีพย่ำแย่ ขาดรายได้ มีหนี้สิน เพราะสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยง ทั้ง ปลา กุ้ง ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ซึ่งตอนนี้ในบ่อที่เลี้ยงมีแต่ปลาหมอคางดำ

และตั้งแต่ที่ตนเองและกลุ่มสมาชิก พบปลาหมอคางดำตั้งแต่ปี 2555 แต่ที่รุนแรงช่วงปี 2559-2560 ซึ่งตนเองและกลุ่มสมาชิกก็ได้ ไปร้องเรียนมาหลายที่แล้ว ทั้งนายกรัฐมนตรี กรรมการสิทธิมนุษยชน ก็แล้วก็ยังไม่มีการดำเนินการอะไร จากตอนแรกแค่ในจังหวัดตนเอง แต่ตอนนี่แพร่ไปในหลายจังหวัดทั่งประเทศแล้ว รวมถึงรัฐก็ไม่ได้เข้ามาดูแลเยียวยาพวกตน และในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มาร้องศาลแพ่งให้ช่วยเหลือในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษ

ซึ่งขั้นตอนการดำเนินคดีจะเป็นการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการ ขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยงและประมงพื้นบ้าน และจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งมีคําขอบังคับให้บริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษ แก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับสู่สภาพเดิม

สำหรับจํานวนค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเรียกร้อง แยกออกเป็น 2 กลุ่ม

1 กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจํานวนพื้นที่ที่เพาะเลี้ยงในอัตราไร่ละ 10,000 บาทต่อปี เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560 – 2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ์การใช้ ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีจํานวนสมาชิกกว่า1,000 ราย มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมกันกว่า 27,000 ไร่ ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 1,982,000,000 บาท

2 กลุ่มประมงพื้นบ้าน เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจํานวนวันในอัตราวันละ 500 บาท (ปีละ 182,500 บาท) เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560 – 2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านมีจํานวนสมาชิกกว่า 380 ราย ค่าสินไหมทดแทนที่ เรียกร้องเป็นเงินกว่า 19,000,000 บาท รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่ในเขตจังหวัดสมุทรสงครามเป็นเงินกว่า 2,486,450,000 บาท

นอกจากฟ้องร้องคดีแพ่ง เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน ช่วงเช้าวันนี้ ตัวแทนจากสภาทนายความ ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาชีพ ประมงพื้นบ้าน จังหวัดสมุทรสงครามจำนวน 54 คน ก็จะยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ 18 หน่วยงาน ต่อศาลปกครองกลาง ฐานความผิดละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบไปด้วย 1.กรมประมง 2.อธิบดีกรมประมง 3.คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ 4. คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความ ปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง 5. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

8. อธิบดีกรม ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 9. คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและ ชายฝั่ง 10. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11. รัฐมนตรีว่า การกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 13. คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณะแห่งชาติ 14.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 15.อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 16.กระทรวงมหาดไทย 17.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 18.กระทรวงการคลัง

ซึ่งผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองทั้ง 54 คน ได้เรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเร่งประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อนำเงินฉุกเฉินเยียวยาต่อผู้ฟ้องตามเวลาที่ศาลกำหนด นอกจากนี้ให้ผู้ถูกฟ้องติดตามเงินจาก บริษัทเอกชน ผู้ก่อให้เกิดผลกระทบ ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าความเสียหาย

ทั้งนี้ภายหลังมีการยื่นฟ้องบริษัทเอกชน เรียกค่าเสียหายกรณีระบาดของปลาหมอคางดำ ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการฝ่ายคดี สภาทนายความ ระบุว่าภายหลังไปทำเรื่องฟ้องว่า ศาลนัดไต่สวนคำร้องอีกครั้งหนึ่งคือวันที่ 4 พ.ย. เวลา 9.00 น.วันนี้เป็นการรับไต่สวนคำร้องในการฟ้องคดีแบบกลุ่มซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยจะสามารถยื่นคัดค้านคำร้องเข้ามาได้ และในการไต่สวนคำร้องคดีแบบกลุ่มนั้น เราจะต้องแสดงให้เห็นว่า สมาชิกกลุ่ม มีขอบเขตอย่างไรให้ชัดเจนในกรณีที่จะ เลือกใช้ขอบเขต ของจังหวัดแต่ละจังหวัด โดยจะใช้จ.สมุทรสงครามเป็นขอบเขตในจังหวัดแรก และใช้อาชีพของชาวประมง ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงเพาะเลี้ยง 

โดยในจ.สมุทรสงครามมีสมาชิก ที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและประมงเพาะเลี้ยงทั้งสิ้น 1,400 คน และเวลาในการไต่สวนจะต้องทำให้เห็นว่าสมาชิกแต่ละคนมีความสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

เมื่อถามถึงแนวทางการต่อสู้คดี ว่าที่ร้อยตรีสมชาย เปิดเผยว่า เรามีหลักฐานที่ค่อนข้างมั่นใจว่าสามารถที่จะ เอาผิดผู้ประกอบการ และมีหลักฐานที่บอกว่าใครเป็นผู้นำเข้ามาและเพาะเลี้ยงเป็นที่แรก ทั้งยังมีความเชื่อมโยง จากกรณีที่ก่อนหน้าประเทศไทยไม่เคยมีปลาหมอคางดำมาก่อน ซึ่งเป็นเอกสารทางราชการ โดยในเบื้องต้นตนมั่นใจ ว่าหลักฐานเหล่านี้สามารถพิสูจน์คดีความรับผิดทางแพ่งได้

ส่วนของการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนว่าที่ร้อยตรีสมชาย เปิดเผยว่า เราจะเรียกร้องค่าสินไหม ในส่วนที่ประชาชน ค้างขาดรายได้ของกลุ่มพี่น้องชาวประมงซึ่งเดิมก่อนมีการแพร่ระบาดสามารถทำรายได้ได้แต่หลังมีการแพร่ระบาดทำให้รายได้ของพวกเขาลดลง และจะมีการฟ้องค่าละเมิดสิทธิ์ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเพราะชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ จากพื้นที่ของตนแต่ละจุดได้แบบเดิมเนื่องจากมีการระบาดของปลาหมอคางนำ ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศเดิมที่เคยมีอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related