ทำความรู้จัก “ป่าทับลาน” หรืออุทยานแห่งชาติทับลาน มรดกโลกทางธรรมชาติ ป่าลานผืนสุดท้ายของไทย จากดราม่าในโลกโซเชียล #Saveทับลาน คัดค้านตัดพื้นที่กว่า 2.6 แสนไร่เป็นพื้นที่การเกษตร
จากกรณีที่กรมอุทยานฯ เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อแสดงความคิดเห็นคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวนกว่า 2 แสนไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นพื้นที่ทางการเกษตร จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียล และติดแฮชแท็ก #Saveทับลาน
อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานแห่งชาติในภาคอีสานและภาคตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อ.ปักธงชัย อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และอ.นาดี จ.ปราจีนบุรี สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีป่าลานซึ่งหาดูได้ยากที่มีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น มีต้นลานขึ้นตามธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารต่างๆ และมีธรรมชาติที่สวยงาม นับว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
อุทยานแห่งชาติทับลานเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตทิวเขาพนมดงรัก สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปประกอบด้วยภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อนต่อเนื่องกันเป็นบริเวณกว้างขวาง โดยมีเขาที่สำคัญหลายลูก เช่น เขาละมั่ง เขาภูสามง่าม เขาภูสูง เขาใหญ่ เขาวง เขาสลัดได เขาทิดสี เขาไม้ปล้อง เขาทับเจ็ก และเขาด่านงิ้ว
ซึ่งยอดเขาละมั่งเป็นยอดเขาที่สูงสุด มีระดับความสูงประมาณ 992 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นทิวเขายาวต่อเนื่องกันทำให้มีหุบเขาตามธรรมชาติ เหว และน้ำตก เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำหลายสาย เช่น ห้วยขมิ้น ห้วยปลาก้าง ห้วยคำแช ห้วยคำขี้แรด ห้วยมูลสามง่าม ห้วยภูหอม ห้วยกระทิง ห้วยลำเลย ห้วยกุดตาสี ห้วยลำดวน เป็นต้น ลำห้วยแต่ละสายไหลรวมกันเป็นแม่น้ำมูล ส่วนลำห้วยสวนน้ำหอม ห้วยหินยาว ห้วยชมพู ห้วยสาลิกา ห้วยวังมืด ห้วยลำไยใหญ่ ฯลฯ ลำห้วยเหล่านี้จะไหลรวมกันเป็นแม่น้ำบางปะกง
อุทยานแห่งชาติทับลาน ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบรักธรรมชาติ ที่นี่ยังมีสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์น้ำ ที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นี้ เช่น ช้างป่า เสือโคร่ง กวางป่า และนกเหยี่ยวเขา มีน้ำตกเหวนรก น้ำตกเหวอีอ่ำ เขาใหญ่ และจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของป่าเขาได้อย่างงดงาม
นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินป่าหลายเส้นทางที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาสัมผัสธรรมชาติและเรียนรู้เกี่ยวกับพืชและสัตว์ในพื้นที่
อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติโดยยูเนสโก ภายใต้ชื่อ "กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่" เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2548 และ ยังได้รับรางวัลอุทยานแห่งชาติ สีเขียว (Green National Parks) ระดับทอง (ดีเยี่ยม) ประจำปี 2563
ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าทับลานก็มีปัญหาภายในพื้นที่ โดยมักเกี่ยวข้องกับกรณีการประกาศพื้นที่ซ้อนทับกับเขตบริหารเดิมที่มีเป้าหมายในการใช้ที่ดินอีกแบบ แต่ละหน่วยงานในพื้นที่ต่างก็ดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายของตนเอง จึงเกิดปัญหาที่ค้างคามายาวนานระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น แนวเขตป่าไม้ของอุทยานซ้อนทับกับ ส.ป.ก. การเกิดโครงการที่มีพื้นที่เกี่ยวของกับเขตอุทยานอย่าง โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) หรือ โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง (พมพ.)
ส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน คือการรับผิดชอบพื้นที่นอกเหนืออาณาเขตหน่วยงานอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ อีกทั้งยังมีการดำเนินคดีหลายครั้งกับผู้ถือครองที่ดินอย่างผิดกฎหมาย
การประชุมของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ในระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเพื่อทราบ 3.5 การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นตอนการให้ข้อเสนอแนะอย่างละเอียดรอบคอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ โดยประเด็นการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมาแล้ว 2 ครั้ง โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้มีการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
โดยที่ประชุมดังกล่าวได้มีการนำเสนอข้อมูล มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ได้เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เรื่องผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One map) ที่ให้ดำเนินการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจะเป็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานถึง 265,286.58 ไร่
โดยปกติแล้ว การประกาศพื้นที่ส.ป.ก.ได้นั้นจะต้องมาจากกฤษฎีกา และจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรมชัดเจน ตัวอย่างเช่น พื้นที่ป่าสงวนฯ ที่เกิดความเสื่อมโทรม ทางกรมป่าไม้ก็ต้องทำเรื่องยกพื้นที่นี้ให้กับส.ป.ก. นำไปจัดสรรต่อ ภายใต้กติกาที่กำหนดร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งสัดส่วนชัดเจนกับพื้นที่ที่คงสภาพเป็นป่าชัดเจน ในปัจจุบันยังไม่มีพื้นที่ส.ป.ก.ส่วนไหนเลยส่งคืนให้กรมป่าไม้ในสภาพที่เป็นป่าเลยแม้แต่พื้นที่เดียว แต่กลับพบการออกที่ดินโดยส.ป.ก.อย่างมิชอบ
ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสถานะของพื้นที่จากพื้นที่อุทยาน ให้กลายเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ขัดต่อการดำเนินงานของคณะติดตามการแก้ปัญหาเรื่องของชุมชนในพื้นที่ป่า หากเราดูตามพื้นที่เดิมของอุทยานแห่งชาติทับลานซึ่งเป็นป่าไม้ถาวรตามมติรัฐมนตรี 2506 ซึ่งถูกสงวนไว้สำหรับเรื่องของการคุ้มครองพื้นที่ป่า อีกทั้งภาพถ่ายทางอากาศแทบจะไม่พบเรื่องของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เลย ยกเว้นส่วนพื้นที่ของวังน้ำเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตอุทยานอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าหากพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นป่าไม้ถาวรแล้วการจะดำเนินการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงสภาพใดก็ตาม จำเป็นต้องดำเนินการผ่านคณะรัฐมนตรี โดยจะต้องออกมาเป็นมติในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ และต้องมีกรมป่าไม้เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการในส่วนนี้
ในด้านของพลเรือนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องของที่ดินเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ กลุ่มคนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานซึ่งพวกเขาควรมีสิทธิ์ตามกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต่อมาคือกลุ่มคนที่ได้เอกสารสิทธิ์ที่ดินไปแล้วอยู่ระหว่างการดำเนินการประกาศเขตโดยบางคนได้มีการขยายหรือจับจอง เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินพื้นที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่มีการตกลงกันไว้ และสุดท้ายคือกลุ่มคนที่เข้ามาครอบครองอย่างผิดกฎหมาย เช่น ‘กลุ่มทุนที่เข้ามาพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นธุรกิจก็ต้องถูกนำพาออกไปจากพื้นที่นั้น’
ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นโดยส่วนมากการกระทำอันใดที่เป็นการลดพื้นที่ป่านั้นก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 65 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่กำหนดให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าในช่วงปี พ.ศ.2566 – 2570 ร้อยละ 33 และในห้วงปี 2576 – 2580 ต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 ของพื้นที่ประเทศและขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ
เพจเฟซบุ๊กมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุถึง 6 ผลกระทบ หากมีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานกว่า 265,000 ไร่
ที่มา : อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park , มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง