svasdssvasds

นักวิจัย จุฬาฯ พบ “หอยทากบกเรืองแสง” ตัวแรกในไทย และของโลกในรอบ 80 ปี

นักวิจัย จุฬาฯ พบ “หอยทากบกเรืองแสง” ตัวแรกในไทย และของโลกในรอบ 80 ปี

วงการวิทยาศาสตร์ไทยครึกครื้นอีกครั้ง หลังนักวิจัย จุฬาฯ ค้นพบ หอยทากบกเรืองแสงตัวแรกของไทย และของโลกในรอบ 80 ปี เบื้องต้นเตรียมถอดรหัสพันธุกรรม และปูทางสู่การวิจัยทางการแพทย์และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านการเรืองแสงของหอย

นักวิจัย จุฬาฯ พบหอยทากบกเรืองแสงตัวแรกของไทย และของโลกในรอบ 80 ปี

หอยทากบกเรืองแสงถูกค้นพบครั้งแรกในโลกเมื่อปี พ.ศ.2485 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ดร.ยาตะ ฮาเนดะ (Dr. Yata Haneda) ซึ่งหอยทากสกุล Quantula ชนิด Striata จัดได้ว่าเป็นหอยทากบกเพียงชนิดเดียวในโลกที่เรืองแสงได้

เกือบ 80 ปีต่อมา หอยทากบกเรืองแสงถูกค้นพบอีกครั้งในประเทศไทย โดยทีมนักวิจัยจุฬาฯ นำโดย ดร.อาทิตย์ พลโยธา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบหอยเรืองแสงตัวแรกของไทย เป็นหอยทากบกสกุล Phuphania ที่อาศัยอยู่บริเวณเขาหินปูน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

หอยทากบกเรืองแสง ตัวแรกในไทย และของโลกในรอบ 80 ปี

หอยทากบกเรืองแสง ตัวแรกในไทย และของโลกในรอบ 80 ปี

ดร.อาทิตย์ กล่าวว่า “การค้นพบหอยเรืองแสงในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศของไทยมีความหลากหลาย และน่าจะยังมีสัตว์หรือพืชพันธุ์อีกหลายอย่างที่มีเฉพาะในประเทศไทยหรือเฉพาะในภูมิภาคนี้เท่านั้น ที่รอให้เราค้นพบและศึกษา”

ดร.อาทิตย์ พลโยธา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทีมนักวิจัยจุฬาฯ ได้ส่งข้อมูลเรื่องราวการค้นพบ “หอยทากบกเรืองแสงของไทย” เข้าร่วมแข่งขันในเวที “International Mollusc of the Year 2024” การแข่งขันหอยและหมึกนานาชาติปี 2567 มีหอยและหมึกจากทั่วโลกเข้าร่วมมากกว่า 50 ชื่อ หอยทากบกเรืองแสงของไทยชนะผลโหวตเป็นอันดับ 1 ถูกคัดเลือกให้เป็น “หอยนานาชาติ ประจำปี 2024”

จุดเริ่มต้นการค้นพบ "หอยทางบกเรืองแสง"

ดร.อาทิตย์เล่าว่าการค้นพบการเรืองแสงทางชีวภาพในหอยทาก เริ่มต้นจากทีมวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางและอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.จิรศักดิ์ สุจริต, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิโยรส ทองเกิด และดร.อาทิตย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิโยรส ทองเกิด (คนซ้าย)

ทีมวิจัยได้ศึกษาความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของหอยทากบก พบว่าหอยทากบกสกุล Quantula ที่ค้นพบครั้งแรกโดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่นนั้น มีความใกล้ชิดกับหอยทากบกสกุล Phuphania ในประเทศไทย จึงเริ่มวางแผนการศึกษาและสำรวจความหลากหลายของหอยทากบกในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย

ทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มศึกษาวิจัยหอยทากบกเรืองแสงของไทยโดยร่วมมือกับทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น การศึกษาวิจัยหอยทากบกเรืองแสงดำเนินไป 3 ปี ผลงานวิจัยหอยทากบกเรืองแสงของไทยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ฉบับที่ 13 ในปี 2566

หอยทางบกเรืองแสงในตอนกลางคืน

ความแตกต่างของหอยทางบกของญี่ปุ่นและไทย

หอยทากบกสกุล Quantula ที่นักวิจัยชาวญี่ปุ่นค้นพบนั้นจะเปล่งแสงสีเขียวเป็นจุดขนาดเล็กบริเวณใต้ปาก ไม่สามารถเปล่งแสงสีเขียวอย่างต่อเนื่องได้ แต่หอยทากบกสกุล Phuphania ของไทยมีความพิเศษคือสามารถเปล่งแสงสีเขียวได้อย่างต่อเนื่อง แสงสีเขียวที่เรืองแสงจะมาจากเซลล์เปล่งแสงที่อยู่บริเวณใต้ปากและเนื้อเยื่อแมนเทิล

ส่วนหอยทากบก ชนิด Phuphania crossei ซึ่งเป็นชนิดที่ส่งเข้าประกวดได้รับผลโหวตชนะเลิศในครั้งนี้ มีความพิเศษคือสามารถเรืองแสงออกมาได้อย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืน และเป็นชนิดเดียวในสกุลนี้ที่มีเซลล์เรืองแสงอยู่บริเวณเท้าส่วนหน้าด้วย

ส่วนหอยทากบก ชนิด Phuphania crossei

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิโยรส ทองเกิด หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวถึงการวิจัยเกี่ยวกับหอยในอนาคตว่า หอยทากบกเรืองแสงของไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น International Mollusc of the Year จะได้นำไปวิเคราะห์และผลิตข้อมูลจีโนมฉบับเต็ม ซึ่งข้อมูลที่ได้จะต้องนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับหอยเรืองแสงในระบบนิเวศอื่น ๆ เพื่อให้เข้าใจวิวัฒนาการของการเรืองแสงในสัตว์กลุ่มนี้

นอกจากการศึกษาเรื่องการเรืองแสงของหอย ทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กำลังศึกษาเกี่ยวกับ “เมือกจากหอย” เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะในการผลิตเป็นผ้าก็อตพันแผล

ดร.ปิโยรส กล่าวปิดท้ายว่า “ทีมนักวิจัยได้ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาจีโนมของหอยเพื่อหาโปรตีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตเมือกเหนียว การค้นพบโปรตีนเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจกระบวนการทางชีวภาพที่ทำให้หอยสามารถผลิตเมือกที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวได้ และอาจนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูงได้ในอนาคต”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related