10 สุดยอดโบราณวัตถุหายาก ที่สูญหายไปจากความทรงจำ ณ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เนื่องในโอกาสสัปดาห์อนุรักษ์ไทย
เนื่องในโอกาสสัปดาห์อนุรักษ์ไทย คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติซึ่งเป็นที่เก็บรักษาโบราณวัตถุที่เป็นสมบัติของชาติรวมกว่า 113,849 ชิ้นในปัจจุบัน จึงได้จัดงานเสวนาพิเศษในหัวข้อ “สุดยอดโบราณวัตถุหายาก ที่สูญหายไปจากความทรงจำ x Mini Ehibition” จากสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา พร้อมมีการนำ โบราณวัตถุ จำนวน 10 รายการ ซึ่งมีคุณค่าในแง่ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษา ศาสนา ศิลปะ มานำเสนอ ซึ่งมีดังนี้
กรมศิลปากรได้รับมอบฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากทายาทในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร (พระราชโอรส ลำดับที่ 47 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทับทิม)
ฉลองพระองค์ชุดนี้ทำจากผ้าฝ้ายและกระดุมเปลือกหอย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรงอยู่เป็นครั้งคราว ปรากฏหลักฐานภาพถ่ายเก่าเมื่อคราว เสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2447) เป็นมรดกตกทอดของราชสกุลหนึ่งที่เคยถวายงานใกล้ชิด บอกเล่าว่าเป็นฉลองพระองค์ที่ทรงขณะรักษาอาการพระประชวร
โคมเวียประกอบพระราชพิธี พระราชกุศลเทศนามหาชาติ ประกอบด้วย ตัวโคมและที่ครอบ ทำรูปร่างคล้ายมณฑปทรงแปดเหลี่ยม มีสามชั้นแต่ละชั้นทำมุขโถงยื่นออกมา 4 ทิศ มีพนักระเบียง ผนัง ลงรักปิดทองประดับกระจกสี และเจาะเป็นช่องหน้าต่าง ลายอย่างเทศ เพื่อให้มองเห็นจิตรกรรมเวสสันดรชาดก มีหลังคาทรงกระโจมยอดดอกบัวตูม เมื่อจุดไฟแล้วครอบนั้น หมุนได้ ตามประวัติระบุว่า “สำหรับใช้ในพระราชพิธีเทศน์ มหาชาติ ภายในพระบรมมหาราชวัง
ทั้งนี้โคมเวียนถือเป็นเครื่องกลโบราณชนิดหนึ่ง โดยใช้เทคนิคการจุดเทียนให้เกิดความร้อน และการระบายลมจนใบพัดหมุนเวียน ทำให้จิตรกรรมภายในตัวโคมเคลื่อนไหว มีรูปแบบการประดิษฐ์คล้ายโคมผัดของทางภาคเหนือที่ใช้ในงานประเพณียี่เป็ง ประกอบการเทศน์ มหาชาติ (ตั้งธรรมหลวง) พร้อมกับจุดผางประทีปและโคมไฟถวาย เป็นพุทธบูชาตามจำนวนคาถาของแต่ละกัณฑ์
จีวรฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์ (ในรัชกาลที่ 1) นับเป็นจีวรสำหรับใช้ครองผ้าจริง ซึ่งทอได้ถูกต้องตามพุทธวินัยที่มีความเก่าและสมบูรณ์ที่สุดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระอาจารย์รวม วัดยาง ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรีมอบให้เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2477 เป็นจีวรสีแก่นขนุน 5 ขัณฑ์ ทำจากผ้าป่าน ปักอักษรบริเวณกระทง ความว่า “ผ้าผืนนี้ของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริยรักธอ เมื่อจุลสักราชได 1164 ปีจอจัตวาศก ด้ายหนักเขดลสลึงสองไพธอเป็นเนื้อเอกมือ”
พบที่เขาพนมบาเก็ง เมืองนครธม โดยสำนัก ฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ เมืองฮานอย ให้มาเมื่อ พ.ศ. 2471 มีรูปแบบเป็นพระเครื่องจำลองรูปพระไภษัชยคุรุ และไม่ปิดฐานบรรจุเม็ดกริ่ง ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่านำเข้ามาจากประเทศจีน นับเป็นรูปแบบหายากและมีความพิเศษอย่างมาก
เดิมเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ต่อมาย้ายไปเก็บไว้ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กระทั่งเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-2019) ในสังคมไทยเป็นเวลากว่า 3 ปี กรมศิลปากรจึงมีแนวคิดในการจัดนิทรรศการพิเศษ นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับโรคภัย ตลอดจนคติความเชื่ออันเป็นที่พึ่งทางใจ โดยได้คัดเลือก พระกริ่งบาเก็งเป็นวัตถุจัดแสดงในหัวข้อย่อย พุทธศาสนากับการรักษาโรค ด้วยความเชื่อที่ว่าพระกริ่งมีพุทธคุณ ในการรักษาโรคได้
ย่ามหนังคุณภาพดีจากยุโรป สีน้ำตาลเหลือง ร้อยสายสะพาย ด้วยเชือกเกลียวสีน้ำตาล พิมพ์ลายดาราและพระปรมาภิไธยย่อ จปร ระบุข้อความ ของพระราชทานฝาก เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประเทศ ยุโรป รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖ มีประวัติระบุว่า “พระคณานัมสมณาจารย์ (องสุตบทบวร) มอบให้เมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2473” สันนิษฐานว่าเป็นของขวัญพระราชทานแก่พระเถระผู้ใหญ่อนัมนิกาย
ลานทองจากกรุเจดีย์วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์
จารึกลานทองอักษรโบราณ 3 แผ่น ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเกี่ยวกับ ชื่อบ้านนามเมืองโบราณว่า “เพชรบูรณ์” จารึกลานทองนี้ได้จากการขุดแต่งองค์เจดีย์ทรงดอกบัวตูม ในพุทธศักราช 2510 ซึ่งเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่นิยมสร้างขึ้นสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20–21
แผ่นอิฐมีจารึกคาถาเยธัมมา อักษรปัลลวะ กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 12 สันนิษฐานว่า ใช้บรรจุวัตถุมงคลในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารศาสนสถานในวัฒนธรรมทวารวด จากการศึกษามีความเป็นไปได้ว่าวัตถุนี้ คือ อิฐฤกษ์ ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่ประณีต การประดับลายนูนรูปสี่เหลี่ยม รวมถึงการเจาะช่องสำหรับใส่วัตถุมีค่า
เมื่อพิจารณาร่วมกับรูปอักษรและการจารคาถา เย ธมฺมา อันมีความนิยมมาตั้งแต่อินเดียสมัยหลัง คุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 11-12) เรื่อยมา ประกอบกับ คติความเชื่อว่าการจารหัวใจพระศาสนาเปรียบดั่งได้ สร้างพระพุทธรูป ได้สร้างสถูป หรือเทียบเท่าอัฐิธาตุ ของพระพุทธองค์นั้น อิฐชิ้นนี้จึงมีความพิเศษหายาก ทั้งยังเป็นหลักฐานด้านอักษรศาสตร์และคติชนวิทยา สมัยทวารวดีชิ้นสำคัญด้วย
อานม้าประดับมุกเป็นงานประณีตศิลป์เทคนิคการประดับมุก ฝีมือพระยาเพ็ชรพิชัย (ทองจีน) บิดาเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัย (พร จารุจินดา) ทำให้บุตรของท่าน เนื่องในวันเกียรติยศฯ เมื่อใช้ประกอบการแสดงขี่ม้ารำทวนถวายทอดพระเนตรหน้าพลับพลาในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พ.ศ. 2424
เหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานบำเหน็จความชอบแก่ผู้ที่ไปราชการในการปราบฮ่อ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยว่าจ้างให้บริษัทบีกริมแอนด์โก ผลิตที่ประเทศเยอรมนีจำนวน 500 เหรียญ นิยมเรียกกันว่า “เหรียญนักเลง”
เงินกระดาษหลวง ในสมัยรัชกาลที่ 5
เงินกระดาษหลวง ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้บริษัทต่างประเทศผลิตและนำเข้ามา ซึ่งเตรียมกำหนดออกใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 2436 (ร.ศ.112) แต่เกิดกรณีพิพาทกับประเทศฝรั่งเศสก่อน ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นเหตุผลให้ต้องระงับการนำเงินกระดาษหลวงออกมาใช้ และต้องเผาทิ้งเกือบทั้งหมด
ที่มา : คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ : กรมศิลปากร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง