พิพิธภัณฑ์ "เมโทรโพลิแทน มิวเซียม ออฟ อาร์ต" (Metropolitan Museum of Art) หรือ "เม็ต" (Met) ในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เตรียมคืนรูปปั้นโบราณของไทย 2 ชิ้น กับของกัมพูชา 14 ชิ้น
พิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art แห่งนิวยอร์ก สหรัฐฯ หรือที่รู้จักในชื่อ "เม็ต" Met เตรียมส่งคืนรูปปั้นโบราณจากไทย 2 ชิ้น และกัมพูชา 14 ชิ้น สู่ประเทศต้นทาง ซึ่งวัตถุทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เหล่านี้โยงใยกับพ่อค้าของเก่ารายหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าค้าของที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย
พ่อค้าคนดังกล่าวชื่อ ดักกลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas Latchford) ซึ่งมีชื่อเสียงในวงการสะสมของเก่า เขาถูกตั้งข้อหา ค้าวัตถุโบราณอย่างผิดกฎหมาย เมื่อปี 2019 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เมื่อเขา ถูกต้องสงสัยว่าดำเนินการอย่างเป็นระบบในการขายของเก่าจากกัมพูชาที่ถูกขโมยมาไปยังผู้ซื้อในต่างประเทศ
ชายผู้นี้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีส่วนในการลักลอบซื้อขายวัตถุเหล่านั้นและเสียชีวิต 1 ปีหลังจากถูกตั้งข้อหา ค้าวัตถุโบราณอย่างผิดกฎหมาย ดังกล่าว
ในช่วงที่ผ่านมา บรรดาพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐฯ และยุโรป ต่างพยายามหาแนวทางในการจัดการกับวัตถุที่ถูกขโมยมาจากเอเชีย แอฟริกา และส่วนอื่นของโลก ทั้งในช่วงอาณานิคมและยุคแห่งความปั่นป่วน ด้านพิพิธภัณฑ์ "เม็ต" ให้ความร่วมมือกับสำนักการอัยการของนิวยอร์กที่เขตเเมนฮัตตัน, หน่วยงานสืบสวนของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ในการส่งคืนรูปปั้นโบราณ 13 ชิ้น ที่เกี่ยวข้องกับดักกลาส แลตช์ฟอร์ด และในเวลาต่อมา 'เม็ต' ทราบว่ายังมีรูปปั้นอีก 3 ชิ้นที่ต้องส่งคืนประเทศต้นทางเช่นกัน
ทั้งนี้ วัตถุโบราณที่จะถูกส่งกลับ รวมทั้งรูปปั้นโลหะบรอนซ์ที่ชื่อ "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปางประทับนั่งชันเข่า" (The Bodhisattva Avalokiteshvara Seated in Royal Ease) ที่อยู่ในยุคปลายศตวรรตที่ 10 ถึงต้นศตวรรตที่ 11 และเศียรของรูปปั้นพระพุทธเจ้าสมัยศตวรรษที่ 7 โดยรูปปั้นทั้ง 2 ชิ้น อยู่ในกลุ่มวัตถุโบราณ 10 ชิ้น ที่ยังเปิดให้ชมขณะยังอยู่ในขั้นเตรียมการส่งคืนประเทศต้นทาง
ครอบครัวแลตช์ฟอร์ดเคยมีเครื่องประดับโบราณอายุหลายร้อยปีจากกัมพูชาจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงมงกุฏ โดยได้ส่งของเหล่านั้นกลับไปยังกัมพูชาแล้ว
ดูภาพวัตถุโบราณชิ้นอื่นๆได้ที่ independent.co.uk
ทราบหรือไม่ว่า ในอดีต ประเทศไทย เคยมีกรณี เรียกร้อง วัตถุโบราณ จากสหรัฐฯ มาแล้ว , โดย 10 พฤศจิกายน 2531 หรือเมื่อ 35 ปีที่แล้ว เป็นวันที่ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ถูกส่งกลับคืนสู่ประเทศไทย หลังมีการเจรจาเพื่อทวงคืนจากสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก้ รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐฯ โดยเชื่อว่าถูกโจรกรรมไปในราว พ.ศ. 2503 ในช่วงสงครามเวียดนาม
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นส่วนหนึ่งของปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ โดย ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นทับหลังรูปพระนารายณ์ที่มีความงดงามที่สุดในโลก
การทวงคืนวัตถุโบราณชิ้นสำคัญครั้งนั้น เป็นการริเริ่มโดยศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล และดำเนินการโดยหน่วยงานราชการ คือกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมการทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ไปสู่สาธารณชนจนเป็นที่สนใจในวงกว้าง และประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด , ขณะที่ วงดนตรี ตำนานประเทศไทย อย่าง คาราบาว ยังได้ออกเพลง ทับหลัง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกเหตุการณ์สำคัญของไทย ในช่วงเวลานั้น ไว้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง