แอมะซอนค้นพบภาพแกะสลักใบหน้ามนุษย์โบราณ คาดมีอายุ 2,000 ปีโผล่ขึ้นมา หลังภัยแล้งรุนแรงโจมตีพื้นที่ลุ่มน้ำแอมะซอน ส่งผลให้แม่น้ำแห้งขอด กระทบชนพื้นเมืองที่พึ่งพาแม่น้ำ
แม่น้ำแอมะซอน เป็นแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับหลายประเทศในทวีปแถบอเมริกาใต้ และเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของคนหลายชาติรวมถึงสัตว์นานาชนิด แต่เมื่อช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา แม่น้ำแอมะซอนเผชิญหน้ากับภัยแล้งรุนแรง สภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้แม่น้ำแอมะซอนแห้งขอด และระดับน้ำลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
แต่ภายใต้ความสุ่มเสี่ยงของระบบนิเวศนี้ นักวิทยาศาสตร์กลับเจอเข้ากับสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยในด้านของประวัติศาสตร์ของลุ่มน้ำแอมะซอนในอดีต
พวกเขาพบกับภาพแกะสลักใบหน้ามนุษย์บนโขดหินที่โผล่ขึ้นมาหลังน้ำในแม่น้ำแห้ง ซึ่งกลุ่มหินที่โผล่ขึ้นมามีลักษณะเหมือนเป็นลานทำกิจกรรมสักอย่าง ซึ่งภายหลังถูกเรียกว่า Ponto das Lajes ตั้งอยู่ทางเหนือของแอมะซอน ใกล้กับบริเวณที่แม่น้ำ Rio Negro และ Solimões มาบรรจบกัน
ภาพงานแกะสลักส่วนใหญ่ที่พบ เป็นภาพของใบหน้ามนุษย์ บางใบหน้าก็เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า บางใบหน้าก็เป็นรูปวงรี ประดับไปด้วยรอยยิ้มและสีหน้าเคร่งขรึมแตกต่างกันไป
นักโบราณคดี Jaime de Santana Oliveira กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าว ว่ากันว่าเป็นพื้นที่ที่ชาวพื้นเมืองลับลูกธนูและหอกมานานก่อนที่ชาวยุโรปจะมาถึง
“ภาพแกะสลักนั้น น่าจะเกิดขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์หรือยุคก่อนอาณานิคม จากหลักฐานที่เรามีทั้งหมด เราเชื่อว่า พวกมันมีอายุประมาณ 1,000 ถึง 2,000 ปี”
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราพบกับงานแกะสลักนี้ นักโบราณคดีพบกับภาพงานแกะสลักลักษณะนี้ครั้งแรกในปี 2010 ช่วงนั้นเป็นช่วงหน้าแล้งเหมือนกัน แต่ไม่รุนแรงเท่ากับปี 2023 นี้ ซึ่งการเข้าถึงก็เป็นเรื่องยากมากๆเช่นกัน เนื่องจากคาดว่ามันกระจายอยู่ใต้น้ำลึกของแอมะซอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยังไม่ดีขึ้น! นักวิจัยเผย การตัดไม้ทำลายป่ายังมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ
เปิดลิสต์เมืองท่องเที่ยวเสี่ยงจมน้ำ หากน้ำทะเลสูงขึ้น 1.5 ม.
แต่มันกลับโผล่มาอีกครั้ง ท่ามกลางวิกฤตที่ไม่ค่อยน่ายินดีสักเท่าไหร่ แม้งานแกะสลักเหล่านี้จะมีคุณค่าต่อนักโบราณคดีมากในการศึกษาต้นกำเนิดและความเป็นไปของแอมะซอนในอดีต
นักวิทย์กังวลว่า แม่น้ำแอมะซอนที่ชุ่มชื้นอาจจะอยู่ได้อีกเพียงไม่เกิน 50 หรือ 100 ปีต่อจากนี้ คลื่นความร้อน ปรากฏการณ์เอลนีโญ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำแอมะซอนลดลงมาแล้วถึง 15 เมตรตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม เผยให้เห็นหินและทรายของก้นแม่น้ำ
ไม่เพียงเท่านั้น ภัยนี้ยังส่งผลกระทบต่อชุมชนพื้นเมืองและประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณของแอมะซอน หลายชีวิตยังคงพึ่งพิงแม่น้ำอันคดเคี้ยวนี้ในการดำรงชีวิต เช่น เพื่อการคมนาคมและอุปโภคบริโภค รัฐบาลบราซิลก็ได้เร่งพยายามให้ความช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่ดังกล่าว
สุดท้ายนี้ นักโบราณคดีทิ้งท้ายไว้ว่า น่าเสียดายที่ภาพแกะสลักนี้กลับมาพร้อมกับความแห้งแล้งของทรัพยากรธรรมชาติ แต่หากแม่น้ำกลับมาอีกครั้ง และภาพเหล่านี้จมอยู่ใต้น้ำ เราก็เชื่อว่ามันจะช่วยอนุรักษ์ภาพแกะสลักได้ดีกว่ามนุษย์เราแน่นอน
ที่มาข้อมูล
Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง