ใครมีแพลนจะไปเที่ยวที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ให้วางแผนการเดินทางดี ๆ เพราะขณะนี้ เที่ยวบินมากกว่า 100 ไฟลท์ถูกเปลี่ยนเส้นทางและดีเลย์ เนื่องจากการเกาะตัวของฝุ่น PM 2.5 นั้นไปรบกวนวิสัยทัศน์การมองเห็นของนักบิน
สภาพอากาศในกรุงฮานอยขณะนี้กำลังระส่ำหนัก เว็บไซต์ IQAir ระบุว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงกว่าเฉลี่ยของ WHO มากถึง 11 เท่า มีหมอกหนาปกคลุมเหนือเมืองหลวงแห่งนี้ ร้ายแรงถึงขั้นกระทบสุขภาพ
เจ้าหน้าที่ของสนามบินโหน่ยบ่าย (Noi Bai International Airport) กล่าวว่า ไม่สามารถให้เครื่องบินลงจอดได้ เพราะวิสัยทัศน์การมองเห็นต่ำเกินไป ซึ่งไม่ปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารและพนักงานบนเครื่อง
ทำให้ผู้ที่จะบินมายังกรุงฮานอย ต้องถูกเปลี่ยนเส้นทางไปสนามบินก๊าตบี (Cat Bi) ที่เมืองไฮฟอง ซึ่งอยู่ห่างจากฮานอยไปทางฝั่งตะวันออกราว ๆ 125 กิโลเมตร
นอกเหนือจากสนามบินโหน่ยบ่ายแล้ว สนามบินอีกหลายแหล่งก็เชิญกับสถานการณ์ไม่ต่างกัน อาทิ Tho Xuan ในเมือง Thanh Hoa, Vinh ในเมือง Nghe An และสนามบิน Phu Bai ในเมือง Hue สนามบินเหล่านี้ต้องหยุดให้บริการชั่วคราวเนื่องจากฝุ่นปกคลุมหนาแน่น
เวียดนามกับฝุ่นแทบจะเป็นของคู่กัน จากการประเมินของ WHO พบว่ามลพิษทางอากาศคร่าชีวิตชาวเวียดนามให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 60,000 ราย (ปี 2559)
ซึ่งต้นตอของฝุ่น PM 2.5 ในประเทศเวียดนามนั้นมาจาก การก่อสร้าง ยานพาหนะ จราจรติดขัด อุตสาหกรรมผลิตเหล็ก ซีเมนต์ และการทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน
โดยเฉพาะกรุงฮานอย ที่เกือบร้อยละ 35 ของฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละวัน เกิดขึ้นมาจากภาคอุตสาหกรรมแทบทั้งสิ้น รวมถึงโรงงานไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ทั่วทั้งเมือง ตามการรายงานของธนาคารโลกในปี 2020
อีกร้อยละ 25 มาจากภาคขนส่ง จากสถิติ ที่กรุงฮานอยมีรถยนต์จดทะเบียนอย่างถูกกฎหมายราว 8 ล้านคัน และสัดส่วนฝุ่น PM 2.5 ที่เหลือก็มาจากการเผาของภาคเกษตรกรรม
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กรุงฮานอยไม่มีกฎเกณฑ์อย่างชัดเจนในการสู้รบกับฝุ่นพิษไซส์จิ๋วชนิดนี้ แต่ถือเป็นข่าวดีเพราะ ทางภาครัฐได้วางแผนลดการปล่อยคาร์บอนออกมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
โดยประกาศว่าเวียดนามจะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ตั้งแต่ปี 2573เป็นต้นไป แม้ในปี 2563 แค่ปีเดียวจะสร้างเพิ่มใหม่ถึง 10 แห่งก็ตาม...
ภายใต้แผนลดคาร์บอนฉบับใหม่นี้ สัดส่วนของฝุ่น PM 2.5 ของกรุงฮานอย ประเทศเวียดนามจากถูกปรับลดลงเหลือแค่ร้อยละ 20 จากของเดิมร้อยละ 35 (ก็ถือว่าลดแล้ว)
แม้การปล่อยคาร์บอนของประเทศเวียดนามจะเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก (0.8%) แต่จากการคาดการณ์ของธนาคารโลก เวียดนามก็เป็นแหล่งอัตราการปล่อยคาร์บอนกำลังพุ่งสูงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ที่มา: Euro News
ข่าวที่เกี่ยวข้อง