svasdssvasds

รู้จัก! ระบบบำบัดน้ำบาดาล "นาโนไฮบริดเมมเบรน" รับ BCG สู่ความยั่งยืน

รู้จัก! ระบบบำบัดน้ำบาดาล "นาโนไฮบริดเมมเบรน" รับ BCG สู่ความยั่งยืน

ชวนทำความรู้จัก! ระบบบำบัดน้ำบาดาล นาโนไฮบริดเมมเบรน รับ BCG หลังหลายพื้นที่ พบว่าน้ำบาดาลมีการปนเปื้อนไอออนต่างๆ เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

ปัญหาเรื่องน้ำ คือ ปัญหาหนึ่งที่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำเสีย น้ำปนเปื้อนสารเคมี จึงทำให้หลายฝ่ายเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ อย่างเช่นล่าสุดนักวิจัยนาโนเทค สวทช. ได้ต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านวัสดุนาโน เพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิตและภัยแล้งที่ชุมชนหลายแห่งของไทยต้องเผชิญเมื่อใช้น้ำบาดาลในการดำรงชีวิต “นาโนไฮบริดเมมเบรน” ที่ผสานวัสดุกราฟีนออกไซด์และนาโนเคลย์ สู่แผ่นเมมเบรนที่มีรูพรุนระดับนาโน/ไมครอนสำหรับใช้ในระบบกรอง ถอดเปลี่ยน-ล้าง (regenerate) ใหม่ได้

ทั้งนี้ระบบดังกล่าวจะตอบโจทย์ความต้องการระบบการบำบัดน้ำบาดาลที่มีการปนเปื้อนไอออนต่างๆ เช่น เหล็ก แมงกานีส แคลเซียม เกลือ พร้อมต่อยอดพัฒนาต้นแบบระบบน้ำกรองของโรงเรียน ณ จังหวัดอุดรธานี หวังเป็นตัวช่วยกลุ่มชุมชน โรงเรียน หมู่บ้าน และพื้นที่ชายขอบที่ประสบปัญหาในเรื่องของคุณภาพน้ำด้วยระบบการจัดการน้ำสะอาดที่มีประสิทธิภาพ ตอบ BCG ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนไทย

 

โดย ดร. กฤตภาส เลาหสุรโยธิน ทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ระบบน้ำบาดาลมีความสำคัญมากในพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำใช้เพื่ออุปโภคและบริโภค ซึ่งในหลายพื้นที่ พบว่า น้ำบาดาลมีการปนเปื้อนไอออนต่างๆ เช่น เหล็ก แมงกานีส แคลเซียม หรือเกลือ ที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำ และคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ใช้น้ำ ทีมวิจัยนาโนเทคจึงนำองค์ความรู้มาพัฒนาต่อยอดจากวัสดุนาโนที่มีโครงสร้าง 2 มิติ จากนาโนเคลย์หรือเลเยอร์ดับเบิ้ลไฮดรอกไซด์ที่มีสมบัติในการดูดซับและแลกเปลี่ยนไอออนในการตรึงไอออนและโมเลกุลของสารประกอบต่างๆ เพื่อให้สามารถเพิ่มสมบัติการดูดซับสารปนเปื้อนดียิ่งขึ้น

“ได้ศึกษาอย่างต่อเนื่องร่วมกับการพัฒนาเสริมวัสดุกราฟีนออกไซด์ให้เป็นคอมพอสิตระดับนาโนไฮบริดของวัสดุสองมิติ 2 ชนิด ที่มีความเข้ากันได้ โดยมองความเป็นไปได้ที่วัสดุนาโนไฮบริดนี้จะถูกนำไปใช้งานจริง และมี TRL ที่สูงขึ้นเพื่อการต่อยอดใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณะประโยชน์ ด้วยเหตุนี้จึงออกแบบให้วัสดุดังกล่าว อยู่ในรูปของแผ่นเมมเบรนที่มีรูพรุนระดับนาโนหรือไมครอนซึ่งจะทำให้ถูกนำไปใช้งานในระบบกรอง ถอดเปลี่ยน และล้าง (regenerate) ให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้” ดร. กฤตภาสกล่าว

อย่างไรก็ตามในงานวิจัยส่วนนี้ นาโนเทค สวทช. พร้อมกับผู้ร่วมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อพัฒนาและออกแบบนาโนไฮบริดเมมเบรนพร้อมระบบชุดกรองน้ำแบบไหลข้าม (crossflow) สำหรับการกำจัดไอออนแคลเซียมและเกลือคลอไรด์จากกลไกการดูดซับและการแยกไอออนจากลักษณะชั้นระดับนาโน (nanochannel) จากการซ้อนทับกันของกราฟีนออกไซด์และนาโนเคลย์ โดยมีประสิทธิภาพและความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นได้จริง

ระบบบำบัดน้ำบาดาล นาโนไฮบริดเมมเบรน

สำหรับการเตรียมวัสดุเลเยอร์ดับเบิ้ลไฮดรอกไซด์หรือนาโนเคลย์สังเคราะห์นั้น นักวิจัยนาโนเทค เผยว่า สามารถเตรียมขึ้นได้จากเกลือไนเตรดของโลหะที่เป็นไดเวเลนท์แคตไอออนกับไตรเวเลนท์แคตไอออน เมื่อใช้ไอออนของโลหะที่เหมาะสม จะสามารถเตรียมและผลิตเลเยอร์ดับเบิ้ลไฮดรอกไซด์ที่มีสมบัติเฉพาะต่างกัน และมีสมบัติการดูดซับและการแลกเปลี่ยนไอออนลบจากชั้นระหว่างเลเยอร์ของแคตไอออนไฮดรอกไซด์ เมื่อนำไปผนวกกับส่วนประกอบของวัสดุคาร์บอนจึงเป็นการเพิ่มสมบัติการดูดซับและพื้นที่ผิวให้สูงขึ้น

การสร้างคาร์บอนที่มีสมบัติหลากหลายและมีพื้นที่ผิวสูง เช่นกราฟีนออกไซด์ ที่มีสมบัติเชิงโครงสร้างแบบ 2D จะมีความสอดคล้องกันกับมิติของวัสดุเลเยอร์ดับเบิ้ลไฮดรอกไซด์ เมื่อทำการผสมแบบ in-situ ตามวิธีที่ทางนาโนเทคพัฒนาขึ้นนี้ ทำให้มีการก่อตัวของของผสมทั้งสองชนิดและได้วัสดุคอมพอสิตแบบ 2D/2D ที่ยากจะแยกกันออก ข้อดีของแนวทางแบบนี้คือทำให้วัสดุมีสมบัติการดูดซับและตรึงไอออนของเป้าหมายได้ดีขึ้น ที่สำคัญ เมื่อนำไปขึ้นรูปเป็นแผ่นเยื่อกรองโดยมีวัสดุยึดเหนี่ยวที่เหมาะสม จะทำให้วัสดุคอมพอสิตนี้ มีความเสถียร ทนต่อการนำไปใช้งานในการแยกผ่านตะกอนหรืออนุภาคได้ดี

โดยเฉพาะการก้าวข้ามข้อจำกัดด้านการเป็นวัสดุที่มีความชอบน้ำต่ำ (hydrophilicity) ของกราฟีนออกไซด์ที่จะสลายตัวเมื่อนำไปใช้ในงานด้านน้ำ ดังนั้น เมื่อวัสดุนาโนไฮบริดนี้อยู่ในรูปของเมมเบรนที่มีขนาดรูพรุนเล็กระดับไมครอน และมีความเสถียรสูงจึงสามารถนำมาใช้รับแรงดันในกระบวนการกรองน้ำได้ผ่านการดูดซับและกรองแบบไหลข้าม (crossflow) ที่มีข้อดีกว่าแบบ dead-end หรือกรองแบบตั้งฉากกับหน้าแผ่นกรองที่จะเกิดการสะสมและอุดตันจนไม่สามารถใช้งานต่อได้

“ผลการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ แสดงให้เห็นว่า วัสดุเมมเบรนนี้มีสมบัติในการดูดซับไอออนที่มีประจุทั้งในกลุ่มไอออนลบ เช่น Cl- และไอออนบวก เช่น Ca2+ และไอออนอื่นๆ” ดร. กฤตภาสกล่าว พร้อมชี้ว่า งานวิจัยนี้พัฒนาวัสดุนาโนคอมพอสิตขั้นสูงนี้ สามารถพัฒนากระบวนการที่มีประสิทธิภาพ โดยรวมถึงการควบคุมอัตราส่วนทางเคมี อุณหภูมิ และบรรยากาศที่เหมาะสมจึงเกิดวัสดุดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ยังพัฒนาเทคนิคในการผลิตในปริมาณมาก การออกแบบและพัฒนารูปแบบการเตรียมให้ได้วัสดุ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related