ไมโครพลาสติกกำลังเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงและพบได้อยู่ในธรรมชาติ สิ่งมีชีวิต รวมถึงมนุษย์ ล่าสุดมีการศึกษาเกี่ยวกับไมโครพลาสติกในอาหารแปรรูปมากกว่า 10 ชนิด พบไมโครพลาสติกเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเนื้อวัว เต้าหู้ หรือกุ้งชุบเกล็ดขนมปัง
การวิจัยเกี่ยวกับไมโครพลาสติก (Microplastics) เผยว่าเราอาจบริโภคพลาสติกชิ้นเล็กๆ หลายร้อยชิ้นในแต่ละปีผ่านอาหารที่เราทานเข้าไป
การศึกษาใหม่ทำโดยนักวิจัยจาก Ocean Conservancy องค์กรไม่แสวงหากำไรและมหาวิทยาลัยโตรอนโต ร่วมกันวิจัยไมโครพลาสติกที่มีในอาหาร โดยอาหารที่เป็นตัวอย่างพบว่าเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์มีไมโครพลาสติกอนุภาคขนาดเล็กขนาดตั้งแต่ 1 ไมโครเมตร
นักวิจัยได้วิเคราะห์อาหารทั่วไปมากกว่า 10 ชนิดที่คนอเมริกันนิยม ไม่ว่าจะอาหารทะเล เนื้อหมู เนื้อวัว ไก่ เต้าหู้ และ plant-base หลายชนิด พบว่าชาวอเมริกันบริโภคไมโครพลาสติกเฉลี่ยอย่างน้อย 11,000 ชิ้นต่อปี ซึ่งการศึกษาได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Pollution
ปัจจุบันมีหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแพร่หลายของไมโครพลาสติก ซึ่งถูกค้นพบทุกที่ตั้งแต่หิมะในแอนตาร์กติกไปจนถึงภายในร่างกายมนุษย์ และไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านอาหารที่เรากิน และน้ำที่เราดื่ม การวิจัยได้บันทึกไมโครพลาสติกในผักและผลไม้ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ อย่าง เกลือ น้ำตาล ข้าว และนม
จอร์จ ลีโอนาร์ด นักวิจัยและหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ Ocean Conservancy กล่าวว่า “ไม่มีทางที่จะซ่อนตัวจากพลาสติกได้หากคุณกำลังรับประทานอาหาร”
อย่างไรก็ตามเรายังไม่ควรตื่นตระหนกเกี่ยวกับการพบไมโครพลาสติกที่พบในอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ เรายังจำเป็นต้องทำการศึกษาค้นคว้าและมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้มากกว่านี้
รายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากมลภาวะของไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติก โดย ตั้งข้อสังเกตว่ายังมีงานวิจัยไม่เพียงพอเกี่ยวกับผลกระทบของไมโครพลาสติกที่มีต่อสุขภาพ และเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการวิจัยเพิ่มเติม
เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าไมโครพลาสติกสามารถพบได้ในระบบย่อยอาหารของปลาและสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง แต่งานวิจัยใหม่นี้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับไมโครพลาสติกในวัตถุดิบอาหารที่มักรับประทานกัน เช่น เนื้อปลา เนื้อวัว ไก่ และหมู
นักวิจัยตั้งข้อสังเกตด้วยว่าผลิตภัณฑ์โปรตีนที่ผ่านการแปรรูปสูงบางชนิด เช่น กุ้งชุบเกล็ดขนมปัง ปลาแท่ง และนักเก็ตไก่ ดูเหมือนจะมีอนุภาคไมโครพลาสติกต่อกรัมมากกว่าอาหารที่ผ่านการแปรรูปขั้นต่ำบางประเภท เช่น เนื้อปลา Pollock Alaska และอกไก่ดิบ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าการแปรรูปอาหารอาจเป็นแหล่งที่มาของการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก
การศึกษาเป็นเพียงการสุ่มตัวอย่างและตั้งข้อสังเกตเท่านั้น ไม่สามารถนำมาตัดสินว่าอาหารนั้นมีไมโครพลาสติก เป็นอันตรายหรือไม่ ยังคงต้องการการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก สิ่งสำคัญคือ การค้นพบไมโครพลาสติกในแหล่งอาหารทั่วไป ควรเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความพยายามที่จะแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติกอย่างจริงจัง
Paul Anastas ผู้อำนวยการศูนย์เคมีสีเขียวและวิศวกรรมสีเขียวแห่งมหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า ไมโครพลาสติกจะยังคงพบเห็นได้ทุกที่ตราบใดที่ผู้คนยังคงใช้พลาสติกที่ออกแบบมาให้มีอายุการใช้งาน นี่เป็นจุดที่ต้องแก้ไข เทคโนโลยีจึงมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ อย่าง การออกแบบโพลีเมอร์ที่ย่อยสลายโดยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มา : The Washington Post / Evironmental Pollution
เนื้อหาที่น่าสนใจ :