ปัจจุบันนี้มีการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ใหม่ๆ ในประเทศไทยมากขึ้น มีทั้งไดโนเสาร์กินพืชและกินเนื้อ ทำให้หลายแห่งที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ และในปี 2566 นี้มีการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์หลายชนิด มาดูกันดีกว่าว่ามีไดโนเสาร์ชนิดไหนบ้าง
อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis)
ในเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ที่จังหวัดนครราชสีมา อายุกว่า 230,000 ปีก่อน และได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Reports อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล Alligator munesis มีการศึกษาวิจัยโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเกน ประเทศเยอรมนี นำโดย Dr.Gustavo Darlim ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณีและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พบซากดึกดำบรรพ์กะโหลกสภาพเกือบสมบูรณ์ของอัลลิเกเตอร์ ที่บ้านสี่เหลี่ยม ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และพบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล ซึ่งตั้งชื่อตามแหล่งที่ค้นพบใกล้กับแม่น้ำมูล ทีมนักวิจัยได้ศึกษาตัวอย่างโดยเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่เคยศึกษามาก่อน 19 ตัวอย่าง ประกอบด้วยตัวอย่างชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 4 ชนิด และตัวอย่างในปัจจุบัน อีก 2 ชนิด คือ อัลลิเกเตอร์อเมริกา (Alligator mississippiensis) และอัลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis)
แพคีแพนเธอรา พิริยะอิ (Pachypanthera piriyai)
ซากฟอสซิลเสือ “แพคีแพนเธอรา พิริยะอิ” ถูกค้นพบในเดือนสิงหาคม 2566 ที่บ่อทรายโคราช จังหวัดนครราชสีมา อายุประมาณ 6-9 ล้านปี และจัดเป็นสปีชีส์ใหม่ของโลก ชื่อว่า “แพคีแพนเธอรา พิริยะอิ” (Pachypanthera piriyai) คาดว่าอยู่ในช่วงสมัยไมโอซีนตอนปลาย (Late Miocene) ซึ่งได้รับมอบตัวอย่างจากคุณพิริยะ วัชจิตพันธ์ จึงตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้มอบตัวอย่าง ซึ่งฟอสซิลที่ค้นพบประกอบไปด้วยขากรรไกรล่างและขากรรไกรบนพร้อมฟันบางส่วน มีลักษณะเด่น คือ มีฟันและขากรรไกรที่หนา แข็งแรง บ่งบอกว่าเป็นนักล่าที่แข็งแกร่ง สามารถกัดฉีกเหยื่อได้แม้กระทั่งกระดูก มีขนาดขากรรไกรยาวกว่า 20 เซนติเมตร เมื่อวิเคราะห์ขนาดฟันพบว่ามีน้ำหนักตัวถึง 142 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับเสือในปัจจุบันถือว่ามีขนาดใหญ่พอสมควร
มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส (Minimocursor phunoiensis)
มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ได้โนเสาร์ที่ถุกค้นพบซากฟอสซิลในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เป็นฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดของไทย ด้วยสภาพตัวอย่างที่เจอเป็นโครงกระดูกเรียงต่อกันแทบทั้งตัว จากแหล่งภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ ยุคจูแรสซิกตอนปลาย หรือประมาณ 150 ล้านปี มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส เป็นไดโนเสาร์นีออร์นิธิสเชียนที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ฉายาว่าเป็นไดโนเสาร์นักวิ่งตัวจิ๋วจากแหล่งภูน้อย
ไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด (Sauropod)
ในเดือนพฤษภาคม 2566 กรมทรัพยากรธรณีได้ค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์ในไทย ที่บริเวณน้ำตกตาดใหญ่ จ.เพชรบูรณ์ คาดว่าเป็นฟอสซิลไดโนเสาร์กินพืช หรือพี่ใหญ่คอยาวซอโรพอด คาดว่ามีอายุกว่า 225 ล้านปี ผู้เชี่ยวชาญคาดว่ารอยบนพื้นหินเกิดขึ้นในช่วงไทรแอสสิกตอนปลาย อายุคาร์เนียน-นอเรียน หรืออายุประมาณ 225 ล้านปี โดยผู้เชี่ยวชาญด้านรอยตีนดึกดำบรรพ์ Dr. Jean Le Loeuff จาก Esperaza Dinosaur Museum ประเทศฝรั่งเศส ยืนยันว่าเป็นรอยเท้าของสัตว์ดึกดำบรรพ์จริง และคาดว่าเจ้าของรอยเท้า คือไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด (Sauropod)
ปลาซีลาแคนธ์ (Coelacanth)
ฟอสซิลปลาดึกดำบรรพ์ ปลาซีลาแคนธ์ ถูกค้นพบในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ บ้านคำพอก อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ได้มีการคาดการณ์อายุซากดึกดำบรรพ์ชนิดนี้ว่าน่าจะมีอายุในยุครีเทเชียสตอนต้น โดยนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับคณะวิจัยชาวต่างชาติ ระบุว่าเป็นปลาซีลาแคนธ์ในกลุ่มมอว์โซนิด แต่ด้วยข้อจำกัดของกระดูกที่พบเพียงชิ้นเดียวจึงไม่สามารถระบุรายละเอียดได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม นี่คือหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ของซีลาแคนธ์ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เบื้องต้นได้คาดการณ์ว่า ซากดึกดำบรรพ์ของปลาซีลาแคนธ์ ในหมวดหินภูกระดึงตอนบน อายุครีเทเชียสตอนต้น เป็นกระดูกขากรรไกรส่วนล่าง รหัสตัวอย่าง PRC 160 อายุในยุครีเทเชียสตอนต้น
ปลาซีลาแคนธ์ (Coelacanth) เป็นปลาดึกดำบรรพ์ที่ดำรงชีวิตมาตั้งแต่มหายุคพาลีโอโซอิก ในช่วงตอนกลางของยุคดีโวเนียน หรือประมาณ 393-382 ล้านปีที่แล้วและยังคงหลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบัน ปลากลุ่มนี้มีลักษณะเด่นคือครีบที่มีลักษณะเป็นพู่เนื้อขนาดใหญ่ 4 ครีบ ซีลาแคนธ์กลุ่มมอว์โซนิดเป็นพวกที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดในช่วงตอนต้นของมหายุคมีโซโซอิก ในยุคไทรแอสซิกประมาณ 251-201 ล้านปีที่แล้ว ต่อมาเมื่อเปลี่ยนเข้าสู่ในยุคจูแรสซิกตอนปลายประมาณ 163-145 ล้านปีก่อน พบว่าปลากลุ่มนี้เปลี่ยนแหล่งอาศัยไปอยู่ในทะเล และมีการเปลี่ยนแหล่งอาศัยกลับมาอยู่ในแหล่งน้ำจืดเมื่อเข้าสู่ยุคครีเทเชียสราว 145-66 ล้านปีที่แล้ว
ซีลาแคนธ์ของไทยตัวนี้เคยแหวกว่ายอยู่ในแม่น้ำโบราณร่วมกับฉลามน้ำจืดกลุ่มไฮโบดอนต์ (Hybodonts) ปลาน้ำจืดไทยอิกธิส (Thaiichthys buddhabutrensis) เต่ายักษ์บาซิโลคีลิส (Basilochelys macrobios) พญาจระเข้ชาละวัน (Chalawan thailandicus) นอกจากนี้ ยังพบฟอสซิลของไดโนเสาร์ กินเนื้อกลุ่มเมเทรียแคนโธซอริดอีกด้วย การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นการเพิ่มเติมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังในหมดหินภูกระดึงของไทย และเพิ่มข้อมูลด้านการกระจายทางบรรพชีวภูมิศาสตร์ของปลาโบราณกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น
ที่มา : Fossil World / กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม / สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เนื้อหาที่น่าสนใจ :