มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทย และเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก ถูกพบที่กาฬสินธุ์ อายุ 150 ล้านปี สามารถไปเยี่ยมชมได้
ประเทศไทยในอดีต มีสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์อย่าง ไดโนเสาร์ อาศัยอยู่เช่นเดียวกันไม่ต่างกับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลของไดโนเสาร์แล้วหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะที่จังหวัดกาฬสินธุ์
ล่าสุด วันที่ 26 ก.ค. 2566 เวลา 10.00 น. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ได้แถลงการค้นพบไดโนเสาร์ตัวใหม่ ตัวที่ 13 ของไทย
มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส (Minimocursor phunoiensis) เป็นไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของประเทศไทยและเป็นชนิดใหม่ของโลก โดยเผยว่า เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนกหรือออร์นิธิสเชียน (Ornithischia) พบในหมวดหินภูกระดึง ยุคจูแรสสิกตอนปลาย มีอายุประมาณ 150 ล้านปี
นับเป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นไดโนเสาร์ ที่ถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการตัวแรกของหมวดหินภูกระดึง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชาวบ้านหนองบัวลำภู พบโครงกระดูกไดโนเสาร์ 3 ชนิด อายุ150 ล้านปี
โดยมีลักษณะเฉพาะตัวของไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ คือ มีสะโพกคล้ายนก (ออร์นิธิสเชียน) ขนาดเล็ก จากผลการวิเคราะห์วงศ์วานทางวิวัฒนาการเผยให้เห็นว่ามันเป็นไดโนเสาร์นีออร์นิธิสเชียนแรกเริ่มที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความใกล้ชิดกับญาติขนาดเล็กอื่น ๆ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงตอนกลางถึงตอนปลายของยุคจูแรสซิกในประเทศจีนและรัสเซีย
ประเทศไทยมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ของโลกมากถึง 7 ชนิดที่ได้รับการตีพิมพ์บทความทางวิชาการในวารสารระดับนานาชาติ ซึ่งไดโนเสาร์ตัวนี้เป็นชนิดที่ 8 โดยซากดึกดำบรรพ์ 7 ชนิดใหม่ของโลกที่ถูกค้นพบในไทยก่อนหน้านี้ ได้แก่
และตัวที่ 8 คือ มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ซึ่งชื่อนี้หมายถึง “นักวิ่งขนาดเล็กจากแหล่งภูน้อย”
ภูน้อย คือแหล่งการค้นคว้าเกี่ยวกับซากฟอสซิลมาอย่างยาวนาน โดยมีชื่อเต็มว่า แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ตั้งอยู่ที่ ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ บนพื้นที่ชนาด 1,200 ตารางเมตร
แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย เป็นจุดที่นักวิจัยยังได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์อื่น ๆ อีกหลายชนิดกว่า 5,000 ชิ้น มีการค้นพบตั้งแต่ ปลาฉลามน้ำจืด ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลานบินได้ หอยน้ำจืด และไม้กลายเป็นหิน รวมถึงไดโนเสาร์กินพืชและไดโนเสาร์กินเนื้อ จนได้รับขนานนามว่า “จูแรสสิกพาร์ค เมืองไทย”
พื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ได้รับการขึ้นทะเบียนของประเทศตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563 มีการศึกษาค้นคว้าเรื่อยมา และคาดว่า ยังคงมีซากดึกดำบรรพ์อีกหลายชนิด รอการค้นพบอยู่ด้านล่างพื้นที่แห่งนี้
ซึ่งไทยจะทำการอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมให้เป็นอุยานธรณีระดับประเทศต่อไป หากใครสนใจอยากไปดูฟอสซิล ซากฟอสซิลบางส่วนจะถูกจัดเก็บและแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์