จากการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ในไทยที่มีมากขึ้น ถือเป็นการค้นพบไดโนเสารพันธ์ุใหม่และเป็นการได้ศึกษาสิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์ ทำให้หลายแห่งที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ เรามาสำรวจดูกันดีกว่าว่าไดโนเสาร์ไทยปัจจุบันมีกี่สายพันธุ์
(1) ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae)
ไดโนเสารไทย ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน เป็นไดโนเสาร์กินพืช มีชีวิตอยู่ในยุคครีเตเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน เดิน 4 เท้า ยาวประมาณ 15-20 เมตร คอและหางยาว เป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่ของโลก มีนิสัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มีการค้นพบโครงกระดูกอย่างน้อย 6 ตัว จำนวนมากกว่า 800 ชิ้น และแหล่งภูเวียง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น ได้พบกระดูกของไดโนเสาร์พวกวัยเยาว์ ขนาดประมาณ 2 เมตร สูง 0.5 เมตรรวมอยู่ด้วย
(2) สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus suteethorni)
ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ชนิดแรกที่พบในประเทศไทย เดิน 2 ขา มีความยาวประมาณ 7 เมตร ฟันมีลักษณะเป็นทรงกรวย มีแนวร่องและสันเรียงสลับตลอดคล้ายฟันของจระเข้ สันนิษฐานว่ามีแหล่งหากินอยู่ริมน้ำ กินปลาเป็นอาหาร เป็นไดโนเสารไทยที่มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเซียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว พบที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี สกลนคร อุดรธานีและจังหวัดนครราชสีมา โดยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายวราวุธ สุธีธร ผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการสำรวจไดโนเสาร์ในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2529
(3) สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis)
ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ เดิน 2 เท้า มีความยาวประมาณ 6.5 เมตร มีขาหลังที่ใหญ่และแข็งแรง พบเฉพาะส่วนกระดูกโคนหาง และกระดูกสะโพก สะโพกและหางสภาพสมบูรณ์ฝังอยู่ในชั้นหินทราย เป็นไดโนเสารไทยวงศ์ไทรันโนซอริเดที่เก่าแก่ที่สุด มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน สันนิษฐานว่าเริ่มวิวัฒนาการครั้งแรกในทวีปเอเชีย แล้วแพร่กระจายไปยังเอเชียเหนือและอเมริกาเหนือ ก่อนที่จะสูญพันธุ์พบที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ สกลนคร อุดรธานี และนครราชสีมา
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
ชาวบ้านหนองบัวลำภู พบโครงกระดูกไดโนเสาร์ 3 ชนิด อายุ150 ล้านปี
ค้นพบ รอยตีนไดโนเสาร์กินพืชแห่งใหม่ในเพชรบูรณ์ อายุ 225 ล้านปี
ว้าว! พบรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อ อายุ 140 ล้านปี ที่กาฬสินธุ์
(4) ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacosaurus sattayaraki)
ไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 1 เมตร จัดอยู่ในกลุ่มเซอราทอปเซียน หรือไดโนเสาร์ปากนกแก้ว มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนกลาง เมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน ในอดีตพบไดโนเสาร์ปากนกแก้วแพร่หลายอยู่เฉพาะแถบเอเชียกลาง บริเวณมณฑลชานตุง มองโกเลีย และไซบีเรีย การพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์ในประเทศไทยจึงเป็นการยืนยันว่า เมื่อยุคครีเทเชียสแผ่นดินอินโดจีนเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย มีการค้นพบซากไดโนเสาร์ชนิดนี้ที่จังหวัดชัยภูมิ
(5) อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ (Isanosaurus attavipachi)
อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ เป็นไดโนเสาร์กินพืชที่มีลักษณะโบราณที่สุดเท่าที่เคยพบ มีชีวิตอยู่ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย เมื่อประมาณ 210 ล้านปีก่อน พบที่จังหวัดชัยภูมิ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายปรีชา อรรถวิภัชน์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี
(6) กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus khomkaenensis)
กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส หรือไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ วิ่งเร็ว ปราดเปรียว ไม่มีฟัน กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร ความยาวประมาณ 1-2 เมตร มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเซียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน พบที่จังหวัดขอนแก่น
(7) สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngami)
สยามโมดอน นิ่มงามมิ ไดโนเสาร์ออร์นิโธพอดสกุลใหม่ ชนิดใหม่ของโลก มีอายุอยู่ในช่วง 100 ล้านปี ที่มาของสกุล Siamodon มาจาก Siam ชื่อเดิมของประเทศไทย odoust เป็นภาษากรีก แปลว่า ฟัน พบที่จังหวัดนครราชสีมา ไดโนเสาร์กินพืช มีลักษณะของกระดูกขากรรไกรบนเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วที่มียอดสามเหลี่ยมไม่สูงนัก ซึ่งมีความยาวทางด้านหน้าสามเหลี่ยม กับด้านหลังสามเหลี่ยมเกือบเท่าๆ กัน คือมีความยาวของขากรรไกรบน 230 มิลลิเมตร และมีความสูง 100 มิลลิเมตร
(8) ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranareae)
ไดโนเสาร์กินพืช จำพวกอีกัวโนดอน จัดอยู่ในประเภทไดโนเสาร์ที่มีกระดูกสะโพกแบบนก พบกรามล่างซ้ายและร่องฟันโค้งตามรูปฟัน และมีโครงขากรรไกรชี้ไปด้านหลัง ขาหน้าสั้นกว่าขาหลัง มักเดินสองเท้าหรือเดินสี่เท้าเป็นครั้งคราว นิ้วมือและเท้ามี 5 นิ้ว สามารถงุ้มงอนิ้วเพื่อจับกิ่งไม้ได้และมีนิ้วโป้งขนาดใหญ่สันนิษฐานว่าอาจจะมีไว้เพื่อป้องกันตัว ปลายปากคล้ายเป็ดและคาดว่ามีลิ้นยาวเพื่อตวัดอาหารเข้าปาก กินพืชพวกเฟิร์นและหญ้าหางม้าเป็นอาหาร มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนกลาง หรือประมาณ 100 ล้านปีก่อน พบที่จังหวัดนครราชสีมา
(9) สิรินธรนา โคราชเอนซิส (Sirindhorna khoratensis)
สิรินธรนา โคราชเอนซิส เป็นไดโนเสาร์กินพืชจำพวกอิกัวโนดอน สูงประมาณ 2 เมตร ยาว 6 เมตร มีกระดูกสะโพกแบบนก (ออร์นิโธพอด) จัดเป็นไดโนเสาร์เคลดอีกัวโนดอนเทีย (Iguanodontia) ที่มีลักษณะเก่าแก่ หรือเป็นไดโนเสาร์ปากเป็ดยุคแรกๆ เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่แถบอำเภอเมืองนครราชสีมา เมื่อประมาณ 115 ล้านปีก่อน ซึ่งสภาพภูมิประเทศตอนนั้นเป็นที่ราบลุ่มต่ำ ในสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างแห้งแล้ง คล้ายกึ่งทะเลทราย ค้นพบที่บ้านสะพานหิน ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา หมวดหินโคกกรวด พบกระดูกขากรรไกรล่างซ้าย กระดูกขากรรไกรบนซ้าย และกระดูกโหนกแก้มขวาพบที่จังหวัดนครราชสีมา
(10) ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ (Phuwiangvenator yaemniyomi)
ไดโนเสาร์ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ หรือไดโนเสาร์นักล่าแห่งเทือกเขาภูเวียง ส่วนแย้มนิยมมิ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ คุณสุธรรม แย้มนิยม อดีตข้าราชการกรมทรัพยากรธรณี ผู้ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกของประเทศไทย ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงเมื่อ 40 กว่าปีก่อน อันนำมาสู่การศึกษาวิจัยไดโนเสาร์ในประเทศไทยในเวลาต่อมา
(11) วายุแรปเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส (Vayuraptor nongbualamphuensis)
ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลาง กลุ่มเทอโรพอด พวกซีลูโรซอร์ยุคแรกๆ (Basal Coelurosaur : มีสายวิวัฒนากรไปทางนก) พบที่จังหวัดหนองบัวลำภู ชิ้นส่วนกระดูกที่พบประกอบด้วย กระดูกขาหลัง กระดูกนิ้วขาหน้า กระดูกหัวหน่าว ซี่โครง และกระดูกจะงอยบ่า อยู่ในหมวดหินเสาขัว ยุคครีเทเชียสตอนต้นหรือประมาณ 130 ล้านปีก่อน ด้วยกระดูกขาที่พบมีความแตกต่างจากที่เคยพบมา จึงตั้งชื่อสกุลและชนิดใหม่ โดยตั้งชื่อตามเทพวายุ เป็นเทพแห่งสายลม เปรียบเสมือนไดโนเสาร์ที่มีความปราดเปรียวว่องไว
(12) สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ (Siamraptor suwati)
ไดโนเสาร์กินเนื้อ สยามแรปเตอร์พบที่บ้านสะพานหิน จ.นครราชสีมา มีอายุประมาณ 113-115 ล้านปีก่อน ในช่วงต้นยุคครีเตเชียส ไดโนเสาร์ชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มคาร์คาโรดอนโตซอร์ เป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และครองตำแหน่งผู้ล่าสูงสุดเนิ่นนานก่อนที่ไทแรนโนซอร์จะวิวัฒนาการขึ้นมาจนใหญ่โตในภายหลัง ด้วยความยาวไม่ต่ำกว่า 7.6 เมตร สยามแรปเตอร์จึงเป็นผู้ล่าสูงสุดในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้มันยังเป็นคาร์คาโรดอนโตซอร์ที่เก่าแก่ที่สุด และยังเป็นตัวแรกที่ถูกค้นพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(13) มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส (Minimocursor phunoiensis)
ไดโนเสาร์ตัวล่าสุดเป็นไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทย ที่ถูกค้นพบ มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ไดโนเสาร์นักวิ่งตัวจิ๋วจากแหล่งภูน้อย ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เป็นไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดของไทย ด้วยสภาพตัวอย่างที่เจอเป็นโครงกระดูกเรียงต่อกันแทบทั้งตัว จากแหล่งภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ ยุคจูแรสซิกตอนปลาย หรือประมาณ 150 ล้านปี เป็นไดโนเสาร์นีออร์นิธิสเชียนที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่มา : กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม