ยุคสมัยของนโปเลียนอาจยาวนานกว่านี้ หากเขาไม่พ่ายแพ้ใน ยุทธการที่ “วอเตอร์ลู” ซึ่งในสงครามครั้งนี้เขาไม่ได้แพ้ให้กับทหารจากชาติพันธมิตรเท่านั้น แต่เขายังแพ้ให้กับอีกหนึ่งศัตรูที่คาดไม่ถึงอย่าง “ภูเขาไฟ” ในอินโดนีเซียด้วย
หากพูดถึงสุดยอดแม่ทัพที่ชนะศึกมานับไม่ถ้วน ย่อมต้องนึกถึง อเล็กซานเดอร์มหาราช ราชันผู้ยิ่งใหญ่แห่งมาซิโดเนีย จูเลียส ซีซาร์ จอมเผด็จการแห่งอาณาจักรโรมัน หรือ เจงกิสข่าน ขุนศึกผู้พิชิตโลกแห่งจักรวรรดิมองโกล แต่เชื่อเถอะว่า บนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์การรบสมัยโบราณ หรือสมัยใหม่ คงจะไม่มีใครนำเหล่าทหารไปสู่ชัยชนะได้มากเท่า “จักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต” แห่งฝรั่งเศสอีกแล้ว
นโปเลียน สร้างชื่อเสียงให้ตัวเองในช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส จากนั้นชื่อเสียงก็โด่งดังยิ่งขึ้นไปอีกจากการรบในอิตาลี และ อียิปต์ ทำให้เขาสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส นามว่าจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ในปี 1804 ก่อนจะนำทัพบุกไปทั่วยุโรป และได้รับชัยชนะในหลายศึก ทำให้ฝรั่งเศสแผ่ขยายอาณาเขต และอิทธิพลไปกว้างใหญ่ไพศาล ไม่ต่างอะไรกับที่นาซีเยอรมันทำกับยุโรปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในช่วงปี 1804 จนถึง 1814 จึงเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยของ จักรพรรดินโปเลียน อย่างแท้จริง เพราะเกือบทุกศึกที่มีเขาบัญชาการล้วนได้รับชัยชนะ ซึ่งยุทธวิธีทางทหารของเขาในช่วงเวลานั้น ยังคงถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรโรงเรียนทหารชั้นนำทั่วโลกจนวันนี้ นอกจากนั้น มรดกทางการเมืองและวัฒนธรรมที่นโปเลียนสร้างมาก็ยังถูกระลึกถึงจนปัจจุบัน ซึ่งต่างกับผู้นำทางทหารคนอื่นๆ ที่เป็นผู้ทำลายมากกว่าสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีจุดสูงสุดก็ย่อมมีจุดลงต่ำสุดเช่นกัน ซึ่งยุคสมัยของนโปเลียนอาจยาวนานกว่านี้ หากเขาไม่พ่ายแพ้ใน ยุทธการที่ “วอเตอร์ลู” ซึ่งในสงครามครั้งนี้เขาไม่ได้แพ้ให้กับทหารจากชาติพันธมิตรเท่านั้น แต่เขายังแพ้ให้กับอีกหนึ่งศัตรูที่คาดไม่ถึงอย่าง “ภูเขาไฟ” ในอินโดนีเซียด้วย
ก่อนสงครามวอเตอร์ลูไม่กี่เดือน คือช่วงที่นโปเลียนเพิ่งหวนคืนสู่อำนาจ เพราะก่อนหน้านั้นเขาพ่ายแพ้ในสงครามปี 1814 จนถูกชาติพันธมิตรบังคับให้สละราชสมบัติและเนรเทศไปอยู่เกาะเอลบา แต่นโปเลียนก็กลับมาทวงบัลลังก์จักรพรรดิฝรั่งเศสอีกครั้งในปี 1815 ทำให้ชาติพันธมิตรต้องกลับมารวมทัพกันใหม่เพื่อโค่นอำนาจนโปเลียน
ชาติพันธมิตรที่มารวมตัวกัน ได้แก่อังกฤษที่นำทัพโดย “ดยุกแห่งเวลลิงตัน” และปรัสเซียที่นำโดย “ฟอน บลึชเชอร์” ซึ่งทั้งสองทัพวางแผนจะรวมตัวกันก่อนที่จะไปเผชิญหน้ากับทัพนโปเลียน แต่แผนนี้ต้องล้มเหลวเพราะโปเลียนเข้าโจมตีทัพปรัสเซียจนต้องถอยร่นไปก่อน ในการรบที่เมืองลิกนี่ (Ligny) ประเทศเบลเยียม เพื่อเป็นการตัดโอกาสที่ศัตรูจะมารวมตัวกันได้ ซึ่งเป็นแผนที่นโปเลียนถนัดและใช้มาตลอดชีวิตการทำสงครามของเขา
เมื่อได้ชัยชนะในศึกแรก นโปเลียนจึงสั่งให้นายพลที่ไว้ใจ ยกกำลังไล่ตามตีทัพปรัสเซียต่อไป ส่วนเขาจะนำทัพหลักไปรบกับเวลลิงตันที่หมู่บ้านวอเตอร์ลู ในเนเธอรแลนด์ ซึ่งหลังจากนี้จะคนทั้งโลกจะได้รู้จักในชื่อ “ยุทธการที่วอเตอร์ลู (battle of waterloo)”
โดยยุทธการชี้ชะตายุโรปนี้เกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิของวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน 1815 ฝ่ายฝรั่งเศสนำทัพโดย นโปเลียน มีทหารประมาณ 70,000 นาย ประกอบด้วยทหารราบที่มีประสบการณ์ 48,000 นาย ทหารม้าชั้นยอด 14,000 นาย และทหารปืนใหญ่และทหารยุทธโยธา 7,000 นาย พร้อมด้วยปืนใหญ่ 250 กระบอก
ส่วนฝ่ายอังกฤษมีกำลังพล ประมาณ 67,000 นาย ทหารราบ 50,000 นาย ทหารม้า 11,000 นาย พลปืนใหญ่และทหารยุทธโยธา 6,000 คน พร้อมปืนด้วย150 โดยในจำนวนนี้มีทหารจากชาติพันธมิตรอย่างเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ปนอยู่ด้วย ทำให้เป็นกองทัพที่รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ และส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์รบมาก่อน เนื่องจากก่อนน้านี้อังกฤษส่งทหารชั้นยอดไปประจำการอยู่ในประเทศอาณานิคมเป็นจำนวนมาก
สงครามเปิดฉากโดยนโปเลียนเป็นฝ่ายโจมตีก่อน แต่เพราะฝ่ายอังกฤษมีชัยภูมิที่เป็นต่อ และเรียนรู้ยุทธวิธีการรบของนโปเลียนมาอย่างดี จึงสามารถต้านทานได้ และความได้เปรียบของฝ่ายอังกฤษอีกอย่างคือ พื้นที่บริเวณนั้นเป็นโคลนตม และกำลังมีสภาพอากาศที่แย่ ซึ่งส่งผลให้กองทัพนโปเลียนเกิดความล่าช้าในการเคลื่อนทัพอย่างมาก
ทว่าสิ่งที่ชี้ชะตาสมรภูมินี้ คือกองทัพปรัสเซียนำโดย ฟอน บลึชเชอร์ ที่ถูกโจมตีไปก่อนหน้า สามารถตั้งหลักได้ และวกกลับมาโจมตีทัพฝรั่งเศส ทำให้นโปเลียนต้องเผชิญศึกสองด้าน และพ่ายแพ้ไปในที่สุด โดยศึกนี้ฝ่ายฝรั่งเศสเสียทหารประมาณ 42,000 นาย ส่วนฝ่ายพันธมิตร เสียทหารประมาณ 24,000 นาย
ยุทการ ที่ “วอเตอร์ลู” นับเป็นศึกสุดท้ายของนโปเลียนอย่างแท้จริง โดยหลังจากนั้นฝ่ายพันธมิตร ได้เนรเทศเขาไปอยู่ เกาะ “เซนต์เฮเลนา (St. Helena Island) ” และนโปเลียนได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น จนจากโลกนี้ไปในวันที่ 5 พ.ค. 1821 ขณะมีอายุ 51 ปีเศษ ซึ่งเป็นการปิดตำนานหนึ่งในผู้บัญชาการทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เท่าที่โลกนี้เคยมีมา
เรื่องที่ทัพปรัสเซียเลี้ยวกลับมาช่วยทัพอังกฤษ คือสาเหตุหลักที่ทำให้นโปเลียนพ่ายแพ้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่การที่พื้นดินเป็นโคลนตม และสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน เพราะถ้าสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศดีกว่านี้ นโปเลียนคงใช้ข้อได้เปรียบเรื่องปืนใหญ่และกองทหารม้าที่ขึ้นชื่อถล่มทัพอังกฤษจนแตกพ่ายไปแล้ว
ทั้งนี้ สาเหตุที่สภาพอากาศบริเวณหมู่บ้านวอเตอร์ลูแปรปรวน โดยเกิดฝนตกหนักทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลินั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ซึ่งนักธรณีวิทยาชาวอังกฤษ ดร.แมทธิว เกงเก (Matthew Genge) แห่งอิมพีเรียลคอลเลจ ได้อธิบายเรื่องนี้ในวารสารปี 2018 เอาไว้ว่า ในปี 1815 สองเดือนก่อน ยุทธการที่วอเตอร์ลู ภูเขาไฟ ตัมโบรา (Mount Tambora) บนเกาะ ในอินโดนีเซีย เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ ส่งผลให้มีคนบริเวณรอบๆ เสียชีวิตมากถึง 1 แสนราย และส่งฝุ่นระดับไมโครขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดเมฆที่บดบังแสงอาทิตย์ และส่งผลให้ปีนั้นมีฝนตกในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงที่หมู่บ้านวอเตอร์ลูด้วย
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เกิด ฝนหลงฤดูก่อนการสู้รบ ทุ่งหญ้าในวอเตอร์ลูจึงมีน้ำขัง ดินกลายเป็นโคลนตม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อทหารม้าเกราะหนักของนโปเลียนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้การที่สภาพอากาศขมุกขมัว ยังทำให้ทัศนวิสัยแย่ และปืนใหญ่ที่เป็นข้อได้เปรียบของกองทัพฝรั่งเศสมาตลอดก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งส่งผลให้นโปเลียนปราชัยอย่างน่าเสียดาย เพราะถ้าหากเขามีชัยเหนือทัพพันธมิตรได้ ประวัติศาสตร์ของโลกในหนังสือเรียนคงเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันแบบมากมายมหาศาลแน่นอน
แฟนๆ ของนโปเลียน และคอหนังประวัติศาสตร์ สามารถสัมผัสความยิ่งใหญ่ของเขาได้แล้ววันนี้ที่โรงภาพยนตร์ โดยรอบนี้เป็นผลงานการกำกับของ "ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott)" ยอดผู้กำกับแห่งยุค และยังได้ "วาคิน ฟินิกซ์ (Joaquin Phoenix)" นักแสดงรางวัลออสการ์มารับบทเป็นจักรพรรดินโปเลียน อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง