ภูเขาไฟฟูจิ หรือ ดิสนีย์แลนด์? ภูเขาไฟฟูจิ ครบรอบ 10 ปี การขึ้นทะเบียน UNESCO ทำให้นักท่องเที่ยวแห่ไปเที่ยวจนล้นภูเขา สร้างขยะเกลื่อน ทำให้สิ่งแวดล้อมฟูจิถึงขั้นวิกฤติ
ภูเขาไฟฟูจิ หรือ ดิสนีย์แลนด์?
ฟูจิซังกำลังกรีดร้อง! หลังจากภูเขาไฟฟูจิ หรืออีกชื่อสุดน่ารักคือ “ฟูจิซัง” ถูกเพิ่มเข้าไปในรายชื่อแหล่งมรดกโลกของ UNESCO เมื่อปี 2013 ทำให้นักท่องเที่ยวแห่แหนกันขึ้นไปปีนเขาในอัตราที่มากขึ้นทุกปี จนมาถึงปี 2023 ที่ผู้ดูแลฟูจิซัง ถึงกับกุมขมับ เนื่องจากนักท่องเที่ยวมาเยอะเกินไปและกำลังทำลายสิ่งแวดล้อมอันสวยงาม
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า นักท่องเที่ยวกลับมาบูมมากขึ้น หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป นักท่องเที่ยวที่มาเยือนญี่ปุ่นมักจะมีจุดมุ่งหมายหลักคือฟูจิซัง และปีนี้ ภูเขาไฟฟูจิจะฉลองครบรอบ 10ปี ก็ยิ่งทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น จนทำให้ภูเขาไฟฟูจิดูเหมือนสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ และสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของฟูจิก็จะถึง “จุดวิกฤติ”
โกโกเมะ สถานีที่คนเยี่ยมเยียนเยอะสุด จนทำให้ห้องน้ำไม่พอแถมสกปรกมากขึ้น
ฟูจิซัง มีสถานีเดินป่าทั้งหมด 10 สถานี และแห่งที่ 5 ที่เรียกว่า โกโกเมะ (Gogome) สถานีที่ตั้งอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของความสูง 3,776 เมตร เป็นจุดพักสุดโด่งดังที่มีคนไปเยือนกว่า 90% ของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่สามารถไปเยือนจุดนี้ได้โดยไม่ต้องเดิน เพราะส่วนใหญ่สามารถใช้บริการรถบัส รถแท็กซี่ และรถยนต์ไฟฟ้าจากโตเกียวขึ้นมาได้เลย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักท่องเที่ยวฟูจิซังทำโลกร้อนด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น
เนื่องจากสถานีที่ 5 หรือ โกโกเมะ เป็นสถานีสุดฮิต ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยอะ ส่งผลให้การจราจรติดขัดตลอดเส้นทางขึ้นเขา แม้เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นำรถส่วนตัวขึ้นมา แต่ก็มีรถบัสรับนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่และรถแท็กซี่ที่สามารถขึ้นมาได้ ดังนั้น การเดินทางส่วนใหญ่จึงปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาจำนวนมาก
นักท่องเที่ยวล้น ขยะก็ล้น
มาซาตาเกะ อิซุมิ เจ้าหน้าที่รัฐบาลจังหวัดยามานาชิ กล่าวว่า “นักท่องเที่ยวล้น ขยะก็ล้น และนี่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่ฟูจิจะต้องเผชิญ”
คิโยตัตสึ ยามาโมโตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทยานแห่งชาติและภูเขาไฟฟูจิจากมหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวเสริมว่า นักเดินป่าหรือนักปีนเขาหลายคนที่เดินทางมาที่นี่ มีหลายคนไม่มีประสบการณ์ บางคนก็ไปนอนในห้องน้ำเพื่อรักษาความอบอุ่น แถมทิ้งอุปกรณ์ปีนเขาตามเส้นทางหรือไปตั้งแคมป์ในพื้นที่ต้องห้าม
เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ได้มีมาตรการปกป้องภูเขาไฟฟูจิ จากอาสาสมัคร Fujisan Club ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่อุทิศต้นเพื่อการอนุรักษ์ภูเขาไฟฟูจิได้จัดกิจกรรมทำความสะอาด 992 ครั้งบริเวณตีนเขา จากอาสาสมัคร 74,215 คน สามารถเก็บขยะได้มากถึง 850 ตัน ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2547 – 2561
นอกจากนี้ นักเดินป่าหรือนักปีนเขาจำนวนมากก็ได้กดดันจำนวนห้องน้ำที่มีจำกัด รวมถึง สถานีพยาบาล 4 แห่งบนภูเขา กับการเข้ามาใช้บริการจนทำให้ห้องน้ำบางแห่งชำรุด และสถานพยาบาลมีแต่ผู้คน
เจ้าหน้าที่หันไปพึ่งเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา
ส่วนหนึ่ง เจ้าหน้าที่มองว่า อาจมีการเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น เนื่องจากสถานีที่ 5 พลุกพล่าน นักปีนเขาจึงเลือกมุ่งหน้าไปยังเส้นทางโยชิดะ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาเส้นทางทั้ง 4 บนภูเขา จึงอาจมีการเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ 1,000 เยน สำหรับผู้เยี่ยมชมมรดกโลกฟูจิซังอย่างแท้จริง
ส่วนในเรื่องการจัดการขยะ อาสาสมัครจาก Fujisan Club ดำเนินการลาดตระเวนเก็บขยะด้วยจักรยานไฟฟ้าที่ติดตั้งกล้องบันทึกข้อมูล GPS และสร้างแผนที่ที่แสดงแผนภูมิประเทศและปริมาณขยะในพื้นที่ ซึ่งพวกเขาพยายามใช้ e-bike และ AI ในการเข้ามาช่วย
และสุดท้ายอาจมีการจำกัดจำนวนนักปีนเขาไว้ที่ 4,000 คนต่อวัน สำหรับเส้นทางยอดนิยม เพื่อให้คนไม่ล้นจนเกินไป ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังดำเนินไปอย่างช้า ๆ และรัฐบาลอาจยื่นมือเข้ามาช่วยในการทำให้การคมนาคมไฟฟ้าเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นกว่านี้
ที่มาข้อมูล
Video and Picture Via Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง