iPhone 15 กำลังจะออกแล้ว! แถมรักษ์โลกด้วยการลดการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการหันมาใช้สายชาร์จพอร์ต USB-C เพื่อให้เข้ากับอุปกรณ์ขนาดพกพาอื่นๆ สะดวกสบายไม่ต้องพกสายหลายแบบและไม่เพิ่มปริมาณขยะ
นอกจากขยะพลาสติกแล้วขยะอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง โทรศัพท์สมาร์ทโฟน iPhone iPad สายชาร์จ หูฟัง ฯลฯ เป็นอีกปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ เพื่อลดการสร้างมลภาวะอันส่งผลกระทบร้ายแรงกับโลก หากกำจัดไม่ถูกวิธีหรือไม่เป็นระบบ สารเคมีอันตรายในขยะอิเล็กทรอนิกส์อาจปนเปื้อนลงสู่ดิน แม่น้ำ และทะเลได้
ย้อนไปก่อนหน้านี้เราจะเห็นสายชาร์จไอโฟนมีหลายรูปแบบและรูชาร์จ iPhone แบบ Lightning ก็เป็นเอกลักษณ์แตกต่างและไม่สามารถใช้กับสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งทำให้ต้องพกสายชาร์จอุปกรณ์มากขึ้น สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก และผู้บริโภคในยุโรปต้องประสบกับปัญหาสายชาร์จมากมายหลายแบบที่กองอยู่ที่บ้าน สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่หากจัดการหรือกำจัดไม่ดีอาจปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมและวนกลับมาส่งผลกระทบกับเราได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
สหภาพยุโรป หรือ EU ได้ออกกฎหมายใหม่บังคับให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทั้งหมดต้องหันมาใช้ระบบสายชาร์จ USB-C ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพาอื่นๆ ซึ่งมาตรการนี้กำหนดให้ทุกบริษัทเปลี่ยนภายในปี 2024 จึงทำให้ Apple ออกแบบสายชาร์จ iPhone 15 เป็นแบบหัวชาร์จ USB-C หรือ Type C แทนสาย Lightning แบบเดิม เป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืนและลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์
สาเหตุที่สายชาร์จไอโฟน หูฟัง ตัวเครื่องสมาร์ทโฟน เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ควรได้รับการจัดการและกำจัดอย่างถูกต้องและเป็นระบบ นั่นเพราะว่าในส่วนประกอบของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีสารอันตรายที่ส่งผลกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อย่างเช่น สารตะกั่วที่อาจทำลายระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ ไต ระบบเลือด, สารปรอท ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง สมอง และไขสันหลัง หรือแคดเมียมที่มีพิษกับร่างกายเฉียบพลัน ทำให้ปอดอักเสบรุนแรง และสารอื่นๆ อีกมากมาย
นั่นจึงทำให้ต้องมีการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง ทิ้งให้ถูกที่ รวมถึงต้องมีการรีไซเคิล โดยการรีไซเคิลไอโฟนหรือโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 12.6 กิโลกรัม ซึ่งตอนนี้มีการรณรงค์ร่วมบริจาคโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้ว โดยมีการจัดให้ที่ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น เพื่อสะดวกในการนำไปกำจัดด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ที่มา : Apple / จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / กรุงเทพธุรกิจ
ภาพ : pexels / Apple
เนื้อหาที่น่าสนใจ :