กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเผย ปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีเกิดขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ที่เกาะเสม็ด จ.ระยอง ระบุได้ลงตรวจสอบคุณภาพน้ำแล้ว พบไม่เป็นอันตราย
หลังจากช่วงเดือนที่ผ่านมา ทะเลภาคตะวันออกโดยเฉพาะในแถบ บางแสน ศรีราชา จ.ชลบุรี ต้องประสบกับปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี กลายเป็นสีเขียวสด จากการบลูมของแพลงก์ตอนพืชในน้ำทะเล ซึ่งส่งผลให้ระดับออกซิเจนในน้ำลดต่ำ จนเกิดการตายของปลาและสัตว์น้ำในทะเลเป็นจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้รับรายงานการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
เจ้าหน้าที่ได้รายงานว่า น้ำทะเลรอบเกาะเสม็ดได้เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวจากปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูม ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม โดยในวันนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการสำรวจเบื้องต้น 5 บริเวณ ได้แก่ อ่าววงเดือน อ่าวเทียน หาดปะการัง อ่าวหวาย และอ่าวพร้าว พบน้ำทะเลเป็นสีเขียวตั้งแต่อ่าวพร้าวจนถึงอ่าวปะการัง (ทิศตะวันตกของเกาะเสม็ด) ส่วนบริเวณอ่าวเทียนและอ่าววงเดือน สภาพน้ำทะเลกลับคืนสู่สภาพปกติ ไม่พบสัตว์น้ำตาย
สำหรับผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้น พบว่า น้ำทะเลมีค่าความเป็นกรดและด่าง 7.94-8.11 อุณหภูมิ 30.0-30.6 องศาเซลเซียส ความเค็ม 30.4-31.2 ส่วนในพันส่วน และออกซิเจนละลายน้ำ 5.72-7.60 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 2 เพื่อการอนุรักษ์แหล่งปะการัง ถือเป็นคุณภาพน้ำระดับปานกลาง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า สาเหตุของน้ำทะเลเปลี่ยนสีที่เกาะเสม็ดในครั้งนี้ เกิดจากการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลตชนิด Noctiluca scintillans ซึ่งแพลงก์ตอนพืชชนิดนี้ไม่สร้างสารชีวพิษ ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง