svasdssvasds

คุยกับพรพรหม แผนรับมือมลพิษ PM2.5 กทม. ก่อนเข้าสู่ฤดูฝุ่น 66

คุยกับพรพรหม แผนรับมือมลพิษ PM2.5 กทม. ก่อนเข้าสู่ฤดูฝุ่น 66

เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนก่อนถึงฤดูฝุ่นควันประจำปี กรุงเทพมหานคร ยืนยัน ได้ดำเนินการวางมาตรการและโครงการต่างๆ ในการบรรเทาและควบคุมสถานการณ์ฝุ่นอย่างเป็นระบบ พร้อมรับมือมลพิษฝุ่นที่กำลังจะกลับมาเยือนอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้

เมื่อย่างเข้าสู่หน้าหนาว กรุงเทพฯ ก็กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงฤดูฝุ่นควัน อันเป็นช่วงเวลาที่คุณภาพอากาศในเมืองหลวงและปริมณฑลเลวร้ายลงติดต่อกันเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ จากการสะสมตัวของฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศอื่นๆ คาบเกี่ยวตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน เรื่อยไปจนถึงช่วงสิ้นสุดฤดูหนาวราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

ในขณะที่ฤดูฝุ่นควันประจำปีกำลังใกล้เข้ามาเรื่อยๆ พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กทม. ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่นควันในช่วงปลายปี 2566 ไว้แล้วอย่างเต็มที่

แม้ว่าโดยปกติแล้วสถานการณ์มลพิษทางอากาศช่วงฤดูฝุ่นควันในพื้นที่กรุงเทพฯ จะไม่ถึงขั้นสาหัสเท่ากับพื้นที่ภาคเหนือ พรพรหม กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นควันพิษถือเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื้อรังของกรุงเทพมหานคร ที่ทีมบริหาร กทม. นำโดย ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตั้งเป้าว่าจะต้องแก้ไขให้สำเร็จ

พรพรหม กล่าวว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กทม. ได้จัดประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เพื่อขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในทุกๆ มิติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางด้านมาตรการในการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น การควบคุมการปลดปล่อยมลพิษ และการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควัน

คุยกับพรพรหม แผนรับมือมลพิษ PM2.5 กทม. ก่อนเข้าสู่ฤดูฝุ่น 66

สำหรับมาตรการด้านการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น พรพรหม เผยว่า กทม. ได้ประสานงานกับกรมควบคุมมลพิษ และกรมอุตุนิยมวิทยา ในการปรับปรุงการเฝ้าระวังและพยากรณ์คุณภาพอากาศ โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครได้ทำแอปพลิเคชัน AirBKK เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจเช็คคุณภาพอากาศได้อย่างสะดวกสบาย

นอกจากนี้ กทม. ยังได้ขยายผลการรายงานคุณภาพอากาศให้เข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้นผ่านโครงการธงคุณภาพอากาศในโรงเรียน ผ่าน 437 โรงเรียนในสังกัดกทม. และ 27 โรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมในโครงการรวมถึงได้มีการเชื่อมโยงถึงโครงการ Work from home ในช่วงที่ฝุ่นเยอะ ซึ่งจะมีเครือข่ายที่ร่วม Work from home เพื่อลดการใช้รถและทำงานที่บ้านด้วย

ในส่วนของมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษ พรพรหม ระบุว่า ต้นตอมลพิษฝุ่นในกรุงเทพฯ มีที่มาจาก 3 แหล่งกำเนิดใหญ่ได้แก่ ควันไฟจากการเผาภาคเกษตร มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และไอเสียจากภาคขนส่ง

ซึ่งขณะนี้ กทม. ได้ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมการปล่อยมลพิษจากทั้ง 3 แหล่งแล้ว โดยได้มีการการสุ่มตรวจวัดควันดำรถยนต์ และตรวจโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นประจำ เดือนละ 2 ครั้ง และได้มีการให้ความช่วยเหลือและขอความร่วมมือเกษตรกรในกรุงเทพฯ และจังหวัดข้างเคียง ไม่ให้ใช้วิธิเผาตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยว

คุยกับพรพรหม แผนรับมือมลพิษ PM2.5 กทม. ก่อนเข้าสู่ฤดูฝุ่น 66

และสำหรับมาตรการบรรเทาผลกระทบฝุ่นควัน พรพรหม กล่าวว่า กทม. ได้มุ่งขยายพื้นที่สีเขียวและปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นทั่วกทม. เพื่อให้เป็นปอดฟอกมลพิษให้กับชาวกรุงเทพฯ โดยล่าสุดมียอดจองปลูกต้นไม้กับ กทม. แล้ว 1,641,310 ต้น และปลูกต้นไม้ไปแล้ว 651,057 ต้น ถือว่ามีความคืบหน้าเกินกว่าแผนอย่างมาก

นอกจากนี้ กทม. ยังได้ผลักดันโครงการสวน 15 นาที เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวสาธารณะครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ ให้คนกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายในระยะการเดิน 15 นาที โดยขณะนี้ ได้จัดสร้างสวนสาธารณะขนาดเล็กไปแล้ว 52 แห่ง และจะมีแผนดำเนินการขยายพื้นที่สวนสาธารณะเพิ่มเติมอีกกว่า 100 แห่ง ในช่วงปี 2567

“โครงการและมาตรการรับมือฝุ่นควันที่กล่าวมานี้ กทม. ล้วนแล้วแต่ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ต้นปี และจะยิ่งดำเนินการมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการควบคุมตรวจสอบการปล่อยมลพิษ ให้เข้มงวดยิ่งขึ้นในช่วงฤดูฝุ่นควันปลายปี ดังนั้นเราจึงมั่นใจว่า กทม. จะสามารถรับมือกับปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” พรพรหม กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related