กรุงเทพมหานคร ขยายผลโครงการธงคุณภาพอากาศในโรงเรียน จับมือโรงเรียนเอกชน 27 แห่ง รณรงค์ปลูกฝังความเข้าใจ แจ้งข้อมูลป้องกันฝุ่น PM2.5 ให้เด็กนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงผลักดันต่อโครงการโรงเรียนสู้ฝุ่น ร่วมกับ สสส.
ย่างเข้าสู่เดือนตุลาคม กรุงเทพมหานครกำลังเข้าใกล้ช่วงฤดูฝุ่นปลายปี ที่คุณภาพอากาศในเมืองกรุงจะดิ่งหนักระหว่างช่วงเดือน พฤศจิกายน เรื่อยไปจนถึง ต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากปัญหาฝุ่นควันพิษ PM2.5 ที่จะทวีความรุนแรงในช่วงเวลาดังกล่าว จากสภาพอากาศปิดช่วงฤดูหนาว และการเผาภาคเกษตรและมลพิษทางอากาศในเมือง
จากปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงดังกล่าว ที่นำไปสู่ภัยสุขภาพร้ายแรงต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุ รวมถึงเด็กและเยาวชน พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันสุขภาพแก่เด็กนักเรียนในโรงเรียน จากภัยฝุ่นพิษ PM2.5
พรพรหม เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ได้ขยายผลโครงการธงคุณภาพอากาศในโรงเรียน โดยจับมือกับโรงเรียนเอกชน 27 แห่งในกรุงเทพฯ ให้ร่วมรายงานคุณภาพอากาศประจำวันโดยใช้ธงสี ตามข้อมูลคุณภาพอากาศ
ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้นำร่องโครงการธงคุณภาพอากาศในโรงเรียน ที่มุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนและบุคลากร รวมไปถึงผู้ปกครอง ในโรงเรียนในสังกัดกทม. กว่า 437 แห่ง ให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์มลพิษทางอากาศ สามารถปกป้องตนเองอย่างปลอดภัย รวมถึงสามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้กับคนในครอบครัว และชุมชน ลดผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างทันท่วงที ในช่วงสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐานในช่วงฤดูหนาวของทุกปี
สำหรับกิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ภายในโรงเรียนของกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับสำนักการศึกษา จัดกิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง ตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นรายวัน ผลกระทบต่อสุขภาพและวิธีการป้องกันตนเอง รวมถึงสมาชิกในครอบครัวให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5
ซึ่งนักเรียนและครูจะตรวจสอบข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.airbkk.com และแอปพลิเคชัน : AirBKK เพื่อเป็นข้อมูลการเลือกสีธง ซึ่งแสดงตามค่าฝุ่นโดยจะตรวจวัดค่าฝุ่นละอองเป็นประจำทุกวันและแปรผลเป็นธง 5 สี ดังนี้
พรพรหม กล่าวว่า เมื่อคุณภาพอากาศเข้าขั้นธงสีส้ม มาตรการสำหรับนักเรียนคือ ให้ทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น งดกิจกรรมกลางแจ้ง และให้เข้าเรียนในห้องปลอดฝุ่น ในขณะที่เมื่อคุณภาพอากาศเข้าขั้นสีแดง ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถพิจารณาสั่งให้หยุดเรียนเป็นการชั่วคราวได้จนกว่าคุณภาพอากาศจะดีขึ้น
“ที่ผ่านมาจากการดำเนินโครงการใน 437 โรงเรียนสังกัดกทม. พบว่าทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยมลพิษฝุ่น PM2.5 มากขึ้น หมั่นตรวจเช็คคุณภาพอากาศมากขึ้น และสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมเมื่อคุณภาพอากาศเริ่มแย่ลง ดังนั้นเราจึงยินดียิ่งที่จะได้ขยายผลโครงการนี้ไปยังโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานคร และในอนาคตเราจะขยายโครงการต่อไปยังโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เพิ่มด้วย” พรพรหม กล่าว
ในขณะเดียวกัน เขายังเผยว่า กทม. ยังได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการโรงเรียนสู้ฝุ่น ใน 34 โรงเรียนสังกัด กทม. รวมไปถึงขอความสนับสนุนจากภาคเอกชนในการจัดสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่นให้ครบทุกโรงเรียนในสังกัด กทม. อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง