รายงาน Air Quality Life Index เผย ประชากรกว่า 673 ล้านคนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย อาศัยในพื้นที่ที่อากาศเป็นพิษ และผลจากการสูดดมมลพิษทางอากาศทำให้อายุขัยเฉลี่ยประชากรสั้นลงถึงเกือบ 3 ปี
วิกฤตหมอกควัน ทำคนอาเซียนอายุสั้น
จากรายงาน Air Quality Life Index เผยว่า ประชากรเกือบทุกคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กว่า 673.7 ล้านคน ยังต้องอาศัยในพื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่นควัน PM2.5 ต่อปี สูงกว่าเกณฑ์ปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดังนั้นอายุขัยคาดเฉลี่ยของคนในภูมิภาคจึงสั้นลงถึงประมาณ 1.6 ปี
รายงานยังคาดคะเนว่า โดยรวมแล้ว ทั้ง 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องสูญเสียอายุขัยรวม 11 ล้านปีให้กับมหันตภัยมลพิษทางอากาศ โดยประเทศที่ต้องเผชิญกับผลกระทบมลพิษทางอากาศหนักหน่วงที่สุดคือ ประเทศพม่า ซึ่งประชาชนพม่าต้องมีอายุขัยคาดเฉลี่ยสั้นลงถึง 2.9 – 3.3 ปี ตามมาด้วย เวียดนาม ที่มลพิษทำให้ประชาชนอายุสั้นลง 2.6 ปี และอันดับสามคือ อินโดนีเซีย ที่อายุขัยคาดเฉลี่ยประชากรต้องลดลงเพราะอากาศสกปรกราว 2.4 ปี
ในขณะที่สำหรับประเทศไทย รายงาน รายงาน Air Quality Life Index ระบุว่า ประชากรไทยทั้งหมด 69.3 ล้านคน ล้วนอาศัยในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศย่ำแย่กว่าเกณฑ์อากาศปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งสิ้น เป็นผลให้อายุขัยคาดเฉลี่ยของคนทั้งประเทศสั้นลงถึงกว่า 1.8 ปี
ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับผู้ที่อาศัยในเขตมลพิษทางอากาศสูงอย่างเช่นพื้นที่ภาคเหนือ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหมอกควันข้ามพรมแดนเป็นประจำทุกปี ต้องมีอายุขัยคาดเฉลี่ยลดลงถึง 3 ปี ซึ่งนี่นับว่าเป็นหลักฐานชี้ชัดถึงภัยอันตรายร้ายแรงของมลพิษทางอากาศ เมื่อเปรียบเทียบกับโรคร้ายอย่าง โรคไต หรือ โรคเบาหวาน ซึ่งทำให้อายุขัยคาดเฉลี่ยของคนไทยลดลง 1.2 ปี
ด้วยเหตุนี้ รายงานฉบับนี้จึงได้แนะนำให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง เพราะถ้าไทยสามารถดึงค่ามลพิษทางอากาศให้ต่ำลงจนอยู่ในระดับเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก จะทำให้คนไทยมีอายุยืนขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 1.5 ปี
ทั่วโลกเผชิญวิบากกรรมอากาศเป็นพิษ
ไมเคิล กรีนสโตน ศาสตราจารย์จากมิลตัน ฟรีดแมน ด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังรายงานข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพมนุษย์ (Air Quality Life Index) เผยว่า มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกต่อสุขภาพมนุษย์ที่ร้ายแรงที่สุด และผลกระทบต่ออายุเฉลี่ยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน 6 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีเครื่องมือพื้นฐานที่จะช่วยฟื้นฟูคุณภาพอากาศ
ไมเคิล กล่าวว่า ข้อมูลมลพิษทางอากาศชุดใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นในช่วงปี 2564 ส่งผลให้มนุษย์ต้องแบกรับภาระด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น หากประชาคมโลกสามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้ตามเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก อายุขัยเฉลี่ยของประชากรจะเพิ่มขึ้น 2.3 ปี
ข้อมูลชุดนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามลพิษจาก PM2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกต่อสุขภาพของมนุษย์ที่รุนแรงที่สุด โดยมีผลกระทบต่ออายุคาดเฉลี่ยเทียบได้กับการสูบบุหรี่ ร้ายแรงกว่าการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้น้ำไม่สะอาด 3 เท่า และรุนแรงกว่าการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุขนส่งอย่างรถชนถึง 5 เท่า ทั่วโลกต่างเผชิญกับความท้าทายของมลพิษทางอากาศที่เหลื่อมล้ำกันอย่างเห็นได้ชัด
“สามในสี่ของผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่มีต่ออายุคาดเฉลี่ยทั่วโลกเกิดขึ้นใน 6 ประเทศ คือ บังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน จีน ไนจีเรีย และอินโดนีเซีย ซึ่งประชากรในประเทศเหล่านี้คาดว่าจะมีอายุเฉลี่ยลดลงกว่าหนึ่งถึงหกปี โดยเป็นผลมาจากอากาศที่พวกเขาหายใจเข้าไป” ไมเคิล กล่าว
ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศที่ได้รับผลกระทบต่างไม่มีโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการกับมลพิษทางอากาศ ภูมิภาคเอเชียและแอฟริกาเป็นตัวอย่างที่สะท้อนข้อเท็จจริงนี้ได้อย่างชัดเจน มลพิษทางอากาศส่งผลให้จำนวนปีอายุขัยของประชากรในภูมิภาคนี้ลดลงกว่าร้อยละ 92.7 แต่มีรัฐบาลเพียงร้อยละ 6.8 ของประเทศในเอเชีย และร้อยละ 3.7 ของประเทศในแอฟริกาเท่านั้นที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศ นอกจากนี้ มีเพียงร้อยละ 35.6 ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย และร้อยละ 4.9 ของประทศในภูมิภาคแอฟริกาเท่านั้นที่มีนโยบายขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างการกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในระดับประเทศ เขากล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขอเป็นปีสุดท้ายที่ต้องทนฝุ่นควัน เพื่อไทยย้ำจุดยืน ผลักดันพรบ.อากาศสะอาด
ชนะแล้ว! ศาลปกครองสั่งก.อุตสาหกรรม จัดทำ PRTR หวังแก้วิกฤตฝุ่นควัน
แก้ฝุ่น PM2.5 แก้ปัญหาจัดการน้ำ ภาระใหญ่ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมเพื่อไทย