พามาชม ! บ้านปลา ธนาคารปู บางปะกง ในโครงการโครงการอนุรักษ์ พื้นฟูฐานทรัพยากรชีวกาพให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำบางปะกง ถือว่าเป็นกำบังชั้นดีที่จะทำให้สัตว์น้ำชะลอการถูกจับ และฟื้นฟูป่าชายเลน
หนึ่งในปัญหาสัตว์น้ำทะเลจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ การถูกจับที่ใช้เครื่องมือประมงแบบผิดวิธี ปัญหาขยะที่ทิ้งลงสู่ทะเล และปากอ่าวมากขึ้น และนอกจากนี้ยังปัญหาป่าชายเลนถูกทำลาย โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกงที่เชื่อมต่อออกทะเล เดิมเคยมีปัญหาเหล่านี้เช่นกัน จึงทำให้หลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ พื้นฟูฐานทรัพยากรชีวภาพให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำบางปะกง
โดยโครงการอนุรักษ์ พื้นฟูฐานทรัพยากรชีวภาพให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำบางปะกง จะมีทั้งเรือนเพาะชำกล้าไม้ป่าชายเลน บ้านปลา ธนาคารปู เป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับชายฝั่งทะเลที่มีความสำคัญต่อการเป็นแหล่งอาศัย และหากินของสัตว์น้ำ และสัตว์หน้าดินหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และสำคัญต่อระบบนิเวศในห่วงโซ่อาหารในช่วงที่น้ำทะเลขึ้น และลง
ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ และความหนาแน่นของประชากรต้นไม้จึงมีความสำคัญยิ่งในการลดความรุนแรงของกระแสคลื่น ป้องกันขยะ และการกัดเซาะชายฝั่งไม่ให้พังทลาย อีกทั้งการเพิ่มความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ในพื้นที่จะเป็นการเกื้อกูลโดยตรงต่อการเป็นแหล่งอาศัย และหากินของสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา นก แมลง ส่งผลให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาเยี่ยมชมในพื้นที่แห่งนี้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงคุณค่า และคุณประโยชน์ของป่าชายเลนได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้การมีส่วนร่วมฟื้นฟูป่าชายเลนดำเนินโครงการโดย มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย สนับสนุนงบประมาณโดย กองทุนสิ่งแวดล้อมสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หน่วยงานด้านนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการจัดการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จัดโครงการเครือข่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์ สผ. เพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจภารกิจของ สผ. ผ่านกิจกรรมภายใต้การสนับสนุนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูฐานทรัพยากรชีวภาพให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำบางปะกง พื้นที่ศึกษาธรรมชาติ บ้านปลา ธนาคารปู อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้ภาคประชาชนเกิดเครือข่ายในการร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากร และสร้างความมั่นคงทางรายได้ของชุมชนในลุ่มน้ำบางปะกง
นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สผ. กล่าวว่า โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูฐานทรัพยากรชีวภาพให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำบางปะกง ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม 5 ล้านบาท ดำเนินโครงการ 3 ปี เพื่อดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ ทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์ อ.ปากพลี จ.นครนายก ให้เอื้อต่อการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ การฟื้นฟูนาร้างให้กลับมาเป็นนาข้าวอินทรีย์ ในพื้นที่กลางน้ำ เกาะลัด อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา และบ้านบางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนหันมาศึกษาและเรียนรู้การทำนาอินทรีย์และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และท้ายที่สุดในพื้นที่ปลายน้ำได้มีการสร้างบ้านปลา ธนาคารปู เพื่อเป็นแหล่งอาศัยและพื้นที่ขยายพันธุ์ให้กับสัตว์น้ำและสัตว์หน้าดิน ทั้งหมดนี้เป็นการบริหารจัดการโดยอาศัยการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพตลอดสายน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรชีวภาพในลุ่มน้ำบางปะกงได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม สผ. ได้มีการต่อยอดการดำเนินงาน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในพื้นที่โครงการ ผ่านระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย THAILAND BIODIVERSITY INFORMATION FACILITY (TH-BIF) เพื่อให้บริการและเผยแพร่ข้อมูลความหลากหลายของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ อันจะเป็นประโยชน์นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย และผู้ที่สนใจ รวมถึงใช้เป็นชุดข้อมูลความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพลุ่มน้ำบางปะกงและทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์ให้ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศ หรือ แรมซาร์ ไซต์ ต่อไป
โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูฐานทรัพยากรชีวภาพให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำบางปะกง พื้นที่ศึกษาธรรมชาติ บ้านปลา ธนาคารปู อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา นับว่าเป็นโครงการดีๆ ที่จะช่วยชะลอไม่ให้สัตว์น้ำถูกจับอย่างน้อยๆ 1 วัน เป็นอย่างต่ำ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประชากรสัตว์น้ำอีกด้วย รวมถึงทำให้ป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น !!!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมทะเลเผย โครงการปลูกป่าชายเลนคาร์บอนเครดิตคืบ พร้อมเปิดรอบใหม่สิงหานี้
"Token คาร์บอนเครดิตป่าชายเลน" เพื่อระบบนิเวศยั่งยืนของไทย เปิดตัวต้นปี 67