ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ส.ผ.) กับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมการทัศนศึกษาเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ระบบนิเวศป่าพรุในประเทศไทยต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านสื่อสารมวลชน ระหว่างวันที่ ๔ - ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ สวนพฤกษศาสตร์ระยอง (พรุหนองจำรุง) บึงสำนักใหญ่ ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ภายใต้โครงการเสริมศักยภาพการจัดการระบบนิเวศป่าพรุเพื่อเพิ่มความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน (Maximizing Carbon Sink Capacity and Conserving Biodiversity through Sustainable Conservation, Restoration and Management of Peat Swamp Ecosystems) พร้อมจัดการเสวนาในหัวข้อ “โลกร้อนระอุ ป่าพรุช่วยได้” โดยมีนายแสงโรจน์ ศรีสวัสดิ์ไกรศร หัวหน้าทีม IGSD, UNDP Thailand และ นางสาวตติยา อุยตระการ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ดร.สุชาติ สัยละมัย ผู้เชี่ยวชาญวิชาการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ผศ.ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการอาวุโสวนศาสตร์ชุมชน, นายวัชนะ บุญชัย หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์ระยอง, นายทนงศักดิ์ จันทร์ทอง ผู้ประสานงานโครงการฯจากศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC), และ นายปิยะ พิริยะโภคานนท์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ในฐานะที่ปรึกษาด้านการสื่อสารของโครงการฯ เข้าร่วม
ดร.สุชาติ สัยละมัย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูล พบว่ามีป่าพรุประมาณ 21-22 แห่งทั่วประเทศ 8 ประเภท พรุในที่สูง พรุในที่ดอน พระในที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ พรุในที่แอ่ง พรุที่ลุ่มหลังสันทราย พรุบริเวณปากแม่น้ำ และพรุที่ราบลุ่มริมทะเลสาบ โดยป่าพรุที่มีอยู่สามารถกักเก็บคาร์บอนในดินพรุ ได้มากถึง 57 ล้านตัน แยกเป็นในใบไม้ใหญ่ 4.20 ตันคาร์บอนต่อไร่ ในป่าเสม็ด 62.64 ตันคาร์บอนต่อไร่ ส่วนปัญหาไฟป่าในป่าพรุเกิดจากความขัดแย้งและความไม่เข้าใจของคน ว่าป่าพรุมีความสำคัญอย่างไร แต่ถ้าสร้างความเข้าใจ สามารถบริหารจัดการและแก้ปัญหาได้ โดยใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน เปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการใช้ประโยชน์ที่ถูกต้องจากป่า ทั้งการทำกินและสร้างรายได้ เฉพาะการนำต้นกระจูดที่ขึ้นในป่าพรุ มาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ป่าพรุควนเคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช สร้างรายได้ถึง 63 ล้านบาทต่อปี
นายทนงศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาไฟไหม้ป่าพรุที่ จ.นครศรีธรรมราช หลังผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับส่วนราชการ ท้องถิ่น ตั้งเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหา ซึ่งการมีชุมชนเข้าร่วมทำให้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง เพราะสาเหตุที่ทำให้ป่าพรุขาดสมดุล เนื่องจากขาดการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อชลประทานเข้ามาแล้ว ทำให้น้ำเกิดสมดุลได้ ลดการเกิดไฟป่า รวมถึงการฟื้นฟูพื้นที่ป่า ซึ่งชุมชนมีส่วนสำคัญ ให้ช่วยกันปลูกต้นไม้เสริมในพื้นที่เพื่อร่วมฟื้นฟูป่าพรุ
นายวันชนะ กล่าวว่า การจัดการพื้นที่ชุมน้ำอย่างยั่งยืน ที่รับทราบแผนใหม่ ว่าจะมีคณะกรรมการระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ซึ่งแนวทางดังกล่าวถ้าได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จะเป็นส่วนช่วยแก้ไขปัญหาว่าจะมีแผนในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำในแต่ละจังหวัด แต่ยังไม่มีกำหนดว่าจะอนุมัติเมื่อใด ทั้งนี้ สผ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบศึกษา กำลังเร่งดำเนินการสรุปคาดว่าปลายปีนี้จะแล้วเสร็จ
นายสุชาติ กล่าวว่า แนวทางการทำให้การอนุรักษ์ป่าพรุเป็นวาระแห่งชาติ เห็นว่าพื้นที่ต้องเสนอขึ้นไปสู่ระดับบน ซึ่งภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยได้มีส่วนร่วมกับนานาชาติ ต้องเชื่อมโยงให้ได้ โดยมีวิสัยทัศน์ในระดับการเมือง ให้เห็นความสำคัญ รวมถึงมีงบประมาณจำนวนหนึ่งในการสนับสนุนในการฟื้นฟูป่า
สำหรับโครงการ Maximizing Carbon Sink Capacity and Conserving Biodiversity through Sustainable Conservation, Restoration and Management of Peat Swamp Ecosystems หรือ โครงการเสริมศักยภาพการจัดการระบบนิเวศป่าพรุเพื่อเพิ่มความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการป่าพรุแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนโดยหวังให้มีการริเริ่มรูปแบบการบริหารจัดการป่าพรุแบบมีส่วนร่วมของภาครัฐส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณป่าพรุควนเคร็งและพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และเอกชน ให้สามารถร่วมกันบริหารจัดการป่าพรุอย่างเป็นระบบนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อควบคุมระบบน้ำในป่าพรุควนเคร็งและการป้องกันไฟป่ามีการฟื้นฟูพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ถูกทำลายโดยพายุหรือไฟป่า ติดตั้งระบบติดตามปริมาณคาร์บอน และพัฒนานโยบายหรือกลไก เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ป่าพรุอย่างยั่งยืนมีการจัดตั้งคณะทำงานส่งเสริมการบริหารจัดการพื้นที่ภูมิทัศน์พรุควนเคร็งแบบองค์รวม อีกทั้งอยากเห็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และขยายผลเป็นวาระแห่งชาติ โดยการจัดทำร่างข้อเสนอยุทธศาสตร์ป่าพรุระดับชาติ ทั้งนี้ โครงการจะจัดแคมเปญ “โลกร้อนระอุ ป่าพรุช่วยได้” เพื่อให้สังคมตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าพรุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDG) เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก