นักวิชาการชี้ เหตุอุบัติภัยสารเคมีที่ท่าเรือแหลมฉบังมีสาเหตุมาจากการขาดระบบจัดการสารเคมีอันตรายที่เหมาะสม จนทำให้เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลซ้ำซาก
จากเหตุการณ์ไฟไหม้ตู้สินค้าบรรจุสารเคมีสารเคมีออกซิไดซ์ 5.2 ในลานสินค้าอันตรายที่ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดการรั่วไหลของสารเคมี ฟุ้งกระจายในสิ่งแวดล้อม จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากสารเคมี ต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลถึงกว่า 20 คน อันเป็นเหตุการณ์อุบัติภัยสารเคมีล่าสุดที่เกิดเหตุที่ท่าเรือแหลมฉบัง
ดร.สมนึก จงมีวศิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch เปิดเผยว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลบ่อยครั้งที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นเพราะท่าเรือแห่งนี้มีการขนถ่ายสินค้าที่เป็นสารเคมีอันตรายอยู่ตลอด อีกทั้งยังมีโกดังเก็บสารเคมีอันตรายที่ย้ายมาจากท่าเรือคลองเตยอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ดร.สมนึก กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบังยังมีมาตรการในการควบคุมดูแลการขนถ่ายและจัดเก็บสารเคมีอันตรายที่ยังไม่ดีพอ จึงทำให้ในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุอุบัติภัยเคมีครั้งใหญ่ที่แหลมฉบังกว่า 5 ครั้ง เป็นภัยคุกคามสุขภาพและความเป็นอยู่ของชุมชนรอบข้างท่าเรือ ที่ไม่อาจทราบได้ว่าอุบัติภัยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อใด
“เหตุการณ์ไฟไหม้ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสารเคมีอันตรายในครั้งนี้ เกิดจากการจัดเก็บสารเคมีที่มีความอ่อนไหวต่อความร้อนในตู้คอนเทนเนอร์กลางแจ้ง จนทำให้สารเคมีเกิดติดไฟขึ้น ชี้ให้เห็นว่าไม่ได้มีการจัดเก็บสารเคมีอันตรายอย่างเหมาะสม” ดร.สมนึก กล่าว
“นอกจากนี้ การรับมือหลังเกิดเหตุยังไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเห็นว่ามีการรายงานชนิดสารเคมีไม่ตรง แต่โชคดีที่สารเคมีที่เกิดติดไฟขึ้นเป็นสารเคมีในสกุลเดียวกัน จึงสามารถดับไฟได้อย่างทันท่วงที แต่ก็ได้ทำให้เกิดควันไฟสารเคมี กระทบทำให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงต้องถูกนำไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายคน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไฟไหม้ตู้คอนเทนเนอร์ท่าเรือแหลมฉบัง พื้นที่รัศมี 5 กม. สวมแมสก์ตลอดเวลา
ชนะแล้ว! ศาลปกครองสั่งก.อุตสาหกรรม จัดทำ PRTR หวังแก้วิกฤตฝุ่นควัน
ดร.สมนึก ตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าสารเคมีไม่ถูกกับอากาศร้อน ทำไมจึงไม่มีการจัดเก็บสารเคมีในห้องปรับอากาศ จัดเก็บสารเคมีในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และมีระบบป้องกันอุบัติภัยสารเคมีที่ดีกว่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ติดตั้งระบบสปริงเกิลดับเพลิงทั้งระบบน้ำและระบบโฟม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลุกไหม้ หรืออุบัติภัยสารเคมีในอนาคต
นอกจากนี้ เขายังเสนอว่า จากปัญหาดังกล่าว การผลักดันร่างกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ซึ่งจะสามารถช่วยติดตามการขนย้าย จัดเก็บ และการจัดการสารเคมีอันตรายได้ทั้งระบบ รวมไปถึงการออกกฎระเบียบข้อบังคับด้านความปลอดภัยในการขนย้ายและจัดเก็บสารเคมีอีกด้วย
อนึ่ง กฎหมาย PRTR คือกฎหมายที่กำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่ตัวกลางสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ดิน น้ำ รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียหรือของเสียที่มีสารเคมีหรือมลพิษออกจากแหล่งกำเนิด ไปบำบัดหรือกำจัด
ซึ่งสามารถช่วยให้ประชาชนสามารถรู้ข้อมูลแหล่งที่มาของมลพิษและประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้จากทุกที่ สามารถรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากสารมลพิษรอบตัวและเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากสารมลพิษได้อย่างปลอดภัย