ครม. เห็นชอบร่างประกาศฯ มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดกับแนวปะการังอัน-เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมกำกับดูแลให้ทั่วถึง
โดย น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม" สู่ปะการังเทียม บ้านปลาหลังใหม่ ครั้งแรกของไทย
ออสเตรเลียเอาจริง ปฏิเสธเหมืองถ่านหินจากเจ้าพ่อเหมือง เพื่อปกป้องปะการัง
ทั้งนี้เพื่อกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความเสียหายที่เกิดกับแนวปะการังอันเกิดจากการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำเป็นการเฉพาะและเพื่อควบคุมกำกับดูแลอย่างทั่วถึง เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีมากขึ้นในขณะที่คนนำเที่ยวมีจำกัดและแนวปะการังของประเทศไทยร้อยละ 50 อยู่ในสภาพเสียหายและเสื่อมโทรมและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น
น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า สาระสำคัญของมาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ สรุปได้ดังนี้
1. ข้อห้ามทั่วไป เช่น ห้ามสัมผัสปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ, ห้ามดำเนินกิจกรรม Sea Walker และห้ามดำน้ำโดยวิธีอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการเดินหรือเคลื่อนที่บนพื้นทะเล, ห้ามกระทำด้วยประการใดๆ อันก่อให้เกิดตะกอนตกทับหรือปกคลุมปะการัง หรือทำให้ปะการังได้รับความเสียหาย, ห้ามให้อาหารปลาหรือสัตว์น้ำ, ห้ามทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง และบนพื้นทะเลในระยะรัศมี 3 เมตร จากแนวปะการัง, ห้ามผูกเชือกกับปะการังเพื่อทำแนวทุ่น
2. การจัดให้มีผู้ควบคุมในกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ และให้ผู้ควบคุมและผู้ช่วยควบคุมแจ้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน วิธีปฏิบัติที่ดีในการดำน้ำโดยไม่กระทบต่อปะการังต่อนักท่องเที่ยวก่อนที่จะเริ่มต้นกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำ ตลอดจนสอดส่อง และป้องกันมิให้มีการฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว โดยจำนวนผู้ควบคุม ได้แก่
2.1 กรณีท่องเที่ยวดำน้ำตื้น ให้มีผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักท่องเที่ยวไม่เกิน 20 คน และกรณีนักท่องเที่ยวเกิน 20 คน ให้มีผู้ช่วยผู้ควบคุมเพิ่มในอัตราส่วน 1 คนต่อนักท่องเที่ยวไม่เกิน 20 คน
2.2 กรณีท่องเที่ยวดำน้ำลึก นักท่องเที่ยวต้องผ่านการเรียนดำน้ำลึก และให้มีผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักดำน้ำลึกไม่เกิน 4 คน
2.3 กรณีการเรียนและสอบดำน้ำลึก ให้มีผู้ควบคุม 1 คน ต่อผู้เรียนไม่เกิน 4 คน
3. ห้ามมิให้นักท่องเที่ยวดำน้ำตื้นโดยไม่สวมเสื้อชูชีพในบริเวณแนวปะการัง เว้นแต่เป็นการดำน้ำตื้นโดยบุคคลที่ได้สอบผ่านหลักสูตรดำน้ำลึกหรือหลักสูตรดำน้ำอิสระ รวมทั้งห้ามดำน้ำตื้นในแนวปะการังในช่วงเวลาน้ำลง
4. ในการท่องเที่ยวดำน้ำลึกและการเรียนหรือสอบดำน้ำลึก ห้ามนำกล้องลงไปถ่ายภาพใต้น้ำ เว้นแต่เป็นการถ่ายภาพใต้น้ำโดยบุคคลที่ผ่านหลักสูตรดำน้ำลึกแล้ว
“ระยะเวลาการบังคับใช้มีกำหนด 5 ปี และไม่ใช้บังคับกับกิจกรรมที่มิใช่กิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ เช่น การดำน้ำเพื่อการศึกษาและวิจัยทางวิชาการ การดำน้ำเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งภายใต้การกำกับของหน่วยงานพื้นที่ที่รับผิดชอบ เป็นต้น” น.ส.ทิพานัน กล่าว