นิวซีแลนด์กลายเป็นประเทศแรกของโลก ที่ยกระดับมาตรการห้ามใช้ หรือแบนถุงพลาสติกชนิดบาง ในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมักจะใช้ใส่ผลไม้หรือผัก และนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประเทศอื่นๆ อาจจะเดินตามรอย และหวังลดถุงพลาสติก 150 ล้านใบต่อปี
ความเคลื่อนไหวในในการลดพลาสติกครั้งนี้ของนิวซีแลนด์ มีผลบังคับใช้ เมื่อวัน 1 ก.ค. 2023 ที่ผ่านมา นับเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลนิวซีแลนด์ เพื่อการรณรงค์ต่อต้านการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในวงกว้าง โดยผู้จับจ่ายใช้สอยส่วนใหญ่เริ่มนำถุงของตัวเองไปใช้ที่ร้านเองแล้ว หลังจากมาตรการสั่งห้ามใช้ถุงพลาสติกกลับบ้านในปี 2019
ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศได้กำหนดค่าถุงหรือมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกกันแล้ว แต่ นิวซีแลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศที่เดินเกมรุกเรื่องรักษ์โลก ให้ยกระดับมากขึ้น
“นิวซีแลนด์สร้างขยะมากเกินไป ขยะพลาสติกมีมากเกินไป” ราเชล บรูคกิ้ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมนิวซีแลนด์กล่าว โดยเธอระบุเสริมว่า นิวซีแลนด์สามารถประหยัดถุงพลาสติกได้มากกว่า 1 พันล้านใบ นับตั้งแต่การห้ามใช้ถุงชนิดหนา ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2019 โดยมาตรการใหม่นี้คาดว่าจะป้องกันการใช้ถุงพลาสติกได้อีก 150 ล้านใบต่อปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จากการ แบนพลาสติกแบบบางของนิวซีแลนด์ ทำให้นักวิจารณ์ได้แสดงความกังวลว่า ประชาชนอาจหาที่ใส่ของชำไว้ในถุงกระดาษแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งยังคงมีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต “มันยังคงคุ้มค่าที่จะทำเช่นนี้ แต่เราต้องการลดบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งจริงๆ” ราเชล บรูคกิ้ง กล่าว “เราต้องการให้ผู้คนนำถุงมาเอง และให้ซูเปอร์มาร์เก็ตขายถุงชนิดนำกลับมาใช้ใหม่ได้”
เคาท์ดาวน์ เชนซูเปอร์มาร์เก็ตดังในนิวซีแลนด์ ซึ่งมีหน้าร้านค้ามากกว่า 185 แห่งทั่วประเทศ เริ่มจำหน่ายถุงตาข่ายโพลีเอสเตอร์แบบใช้ซ้ำได้
โดยบริษัทหวังว่ามาตรการนี้จะกระตุ้นให้ผู้ซื้อใช้ถุงผักและผลไม้ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และเป็นอีกหนึ่งแนวทาง “เราทราบดีว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก และจะใช้เวลาสักครู่” คาเธอรีน ลันกาเบียร์ หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของเคาท์ดาวน์กล่าว แต่ถึงกระนั้น เธอระบุว่า “เราเจอกับลูกค้ารู้สึกไม่พอใจ กับมาตรการแบนถึงพลาสติกของรัฐบาลนิวซีแลนด์ในครั้งนี้”
รัฐบาลนิวซีแลนด์ มีความคืบหน้าในการริเริ่มอื่นๆ เพื่อจัดการกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change โดยในเดือน ต.ค. ปี 2022 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้เสนอให้มีการเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม เช่น แกะและวัว นับโครงการแรกของโลกที่จะให้เกษตรกรจ่ายเงินสำหรับการปล่อยมลพิษทางการเกษตรในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งภายในปี 2568 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการเกษตรของนิวซีแลนด์คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของการปล่อยมลพิษทุกภาคอุตสาหกรรม
ที่มา BBC