svasdssvasds

ทช. ประกาศพบวาฬมิงค์ในน่านน้ำไทยครั้งแรก ทำให้ไทยมีวาฬเพิ่มอีก 1 ชนิด

ทช. ประกาศพบวาฬมิงค์ในน่านน้ำไทยครั้งแรก ทำให้ไทยมีวาฬเพิ่มอีก 1 ชนิด

ข่าวดี ไทยได้วาฬในน่านน้ำเพิ่มอีก 1 ชนิดคือวาฬมิงค์ แต่ข่าวร้าย วาฬเสียชีวิตไปแล้ว เพราะเราพบซากวาฬตัวนี้เกยตื้นเมื่อปี 2565 วาฬมิงค์คืออะไร?

เป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้าย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 มีประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า ซากวาฬที่เกยตื้น บริเวณเขื่อนหินกั้นคลื่น ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา เป็นซากของวาฬมิงค์ (Common Mink Whale; Balaenoptera acutorostrata) ซึ่งถือว่าเป็นการพบวาฬมิงค์ในน่านน้ำไทยครั้งแรก

ซากวาฬมิงค์ Cr.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องราวนี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ที่แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี ชาวบ้านและทีมสัตว์แพทย์ได้พบกับซากวาฬเกยตื้น จึงได้นำทีมสัตว์ทะเลหายากและสัตวแพทย์ ทช. นำโดยคุณหมอบี สพ.ญ ราชาวดี จันทรา นำทีมชันสูตรซาก

เบื้องต้นยังไม่ทราบชนิดพันธุ์ว่าเป็นวาฬอะไร รู้เพียงว่าเป็นซากวาฬซี่กรอง เพศผู้ ความยาว 5.27 เมตร น้ำหนักประมาณ 1,000 กิโลกรัม มีการสังเกตโครงกระดูกที่มีความแตกต่างจากวาฬบรูด้าและวาฬโอมูระที่สามารถพบได้ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนและตอนกลาง จึงนำไปสู่การชันสูตรอย่างละเอียด

รวมทั้งมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัณฐานวิทยาทั้งในกรมทช. ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ , เผ่าเทพ เชิดสุขใจ จากศูนย์วิจัยฯอันดามันตอนบน และ ทีมศวบต. สุรศักดิ์ ทองสุกดี , พัชราภรณ์ เยาวสุต น้องชัย น้องอิม และ พี่ปู ชลวิทย์ จาก อพวช.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังได้ส่งตรวจ DNA นำโดยอาจารย์กบ ศ.น.สพ. ดร.กรกฏ งานวงศ์พานิชย์ คณบดีคณะสัตวแพทย์ มช. จนได้ผลที่ชัดเจนว่าเป็น  Common Minke Whale วาฬมิงค์ตัวแรกในไทย  และสามารถตีพิมพ์ในเอกสารวิชาการได้

ซากวาฬมิงค์ Cr.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดังนั้นในวันที่ 7 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา พ.ญ.ราชาวดี จันทรา นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (ศวบต.) ร่วมกับศ.น.สพ.ดร.กรกฏ งานวงศ์พานิชย์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ตีพิมพ์เอกสารวิชาการเกี่ยวกับวาฬมิงค์ตัวนี้ออกมา เรื่อง First Stranding Event of a Common Minke Whale (Balaenoptera acutorostrata Lacépède, 1804) Reported in the Gulf of Thailand

ปัจจุบันโครงกระดูกของวาฬมิงค์ถูกจัดแสดงไว้ ณ อาคารจัดแสดงโครงกระดูกวาฬบรูด้าและนิทรรศการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ภายในศูนย์วิจัยฯ อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และสร้างความตระหนักรู้ เรื่องสัตว์ทะเลหายาก และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้แก่เยาวชนและประชาชนได้เรียนรู้ต่อไป

โครงกระดูกวาฬมิงค์ Cr.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เรื่องน่ารู้เรื่องวาฬมิงค์

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้น่านน้ำไทยไม่มีวาฬมิงค์ว่ายเวียนเข้ามาในไทย เนื่องจากเป็นวาฬที่มักอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตอบอุ่น และเขตร้อนบางแห่ง เช่น มหาสมุทรอินเดีย บริเวณน่านน้ำทางตอนเหนือของอเมริก แปซิฟิกเหนือ ตะวันตกและแอตแลนติกเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ วาฬมิงค์อยู่ในตระกูลของวาฬไร้ฟัน (Baleen Whales) ที่มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับ 2 ในตระกูล

วาฬมิงค์ Cr. NOAA

วาฬมิงค์มีรูปร่างเพรียวบางกว่าวาฬทั่วไป ลำตัวมีสีดำไปจนถึงสีเทาเข้มอมน้ำตาล มีครีบสีขาว มีความยาวได้ถึง 35 ฟุต และหนักได้มากถึง 9,000 กิโลกรัม ตัวเมียอาจมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย จำนวนของวาฬมิงค์ยังมีอยู่มากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอเมริกาตอนเหนือ เนื่องจากพวกมันได้รับการคุ้มครองภายใต้พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลจาก NOAA Fisheries และพันธมิตรนักอนุรักษ์วาฬมิงค์

วาฬมิงค์ Cr. Whale and Dolphin Conservation Society ด้วยลักษณะที่อยู่อาศัย จึงแทบไม่มีวาฬมิงค์โผล่มาในน่านน้ำไทยเลย เนื่องจากพวกมันชอบอยู่ในพื้นที่น้ำเย็นจัดด้านบน อุ่นสุดก็แถบอินเดีย แต่มันยังคงถูกล่าอยู่ในบางประเทศ ซึ่งก็คงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป

ที่มาข้อมูล

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ThaiWhale

NOAA Fisheries

related